Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 เมษายน 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

แนวโน้มการปรับค่าเงินหยวนภายใต้แรงกดดันจากภายในและภายนอก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2799)

คะแนนเฉลี่ย

ประเด็นค่าเงินหยวนยังคงมีความเปราะบางสำหรับจีน เนื่องจากแม้ว่าทางการจีนวางแผนใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนต่อเนื่องในปีนี้ แต่ภาคส่งออกของจีนยังเผชิญความเสี่ยงจากตลาดต่างประเทศที่ยังฟื้นตัวอย่างไม่เต็มที่ ทำให้คาดว่าการดำเนินนโยบายยืดหยุ่นค่าเงินหยวนเพื่อบรรเทาแรงกดดันจากสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ทางการจีนอาจต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นค่าเงินหยวนเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคส่งออกมากนัก โดยคงต้องประเมินประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายในด้านเงินเฟ้อและฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์และปัจจัยภายนอกจากตลาดต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเห็นว่าทางการจีนคงดำเนินการปรับให้ค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจำกัดการแข็งค่าของเงินหยวนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกมากนัก

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับค่าเงินสกุลเอเชียอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินรูเปียะของอินโดนีเซียเงินรูปีของอินเดีย เงินวอนของเกาหลีใต้ และเงินบาทของไทย ที่อยู่ในทิศทางแข็งค่ามาตั้งแต่ต้นปีนี้แล้วตามกระแสเงินทุนไหลเข้า ขณะที่ทางการจีนคงระดับเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ 6.83 มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 จนถึงปัจจุบัน ทำให้คาดว่าการแข็งค่าของเงินหยวนในปีนี้คงไม่แข็งค่ามากไปกว่าการแข็งค่าของเงินสกุลอื่นๆ ในเอเชียที่ได้แข็งค่าขึ้นล่วงหน้าไปแล้วตั้งแต่ต้นปี ผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่งออกของจีนจากการแข็งค่าขึ้นของเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้จึงน่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกของจีนน่าจะยังคงรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาไว้ได้

สำหรับผลต่อไทย เงินหยวนต่อดอลลาร์ฯ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าอัตราการแข็งค่าของเงินบาทต่อดอลลาร์ฯ จะส่งผลให้ส่งออกของไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้าจีนที่มีความได้เปรียบด้านราคาในตลาดโลก อีกด้านหนึ่ง การคาดการณ์ว่าการยืดหยุ่นค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป คงไม่ส่งผลต่อภาคส่งออกของจีนมากนัก ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนเพื่อใช้ผลิตส่งออกจึงยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่สำคัญๆ ของไทยไปจีนเพื่อใช้ผลิตส่งออกจึงน่าจะเติบโตต่อไปได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่การอัดฉีดเงินงบประมาณของทางการจีนเพื่อกระตุ้นภาคการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปีนี้ จึงเป็นแรงหนุนให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากประเทศต่างๆ และไทย อีกทางหนึ่งเช่นกัน

ขณะเดียวกันแนวโน้มการแข็งค่าของเงินหยวนยังจะส่งผลให้อำนาจซื้อของประชาชนจีนสูงขึ้น ตามราคาสินค้านำเข้าที่ต่ำลงในสายตาผู้ซื้อในจีน ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยไปจีนให้มีโอกาสเติบโตได้ดีขึ้นด้วย แม้คาดการณ์ว่าแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของจีนที่เข้มงวดขึ้นในระยะต่อไปอาจส่งผลให้ความต้องการนำเข้าของจีนชะลอลงตามการบริโภคและการลงทุนที่อ่อนแรงลง แต่คาดว่าการชะลอตัวคงไม่มากนัก ขณะที่นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นจะส่งผลดีที่ช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคของจีนมีความต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งให้การขยายตัวของการส่งออกของไทยไปจีนมีความมั่นคงมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ