Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 เมษายน 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การปฏิรูปภาคการเงินสหรัฐฯ...พลิกโฉมระบบการเงินครั้งสำคัญ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2805)

คะแนนเฉลี่ย

หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันการปฏิรูประบบประกันสุขภาพแล้ว การปฏิรูประบบการเงินสหรัฐฯ เพื่อคุมเข้มการกำกับดูแลภาคธนาคารและตลาดทุนของสหรัฐฯ จึงกลายเป็นวาระถัดไปของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ทั้งนี้ เค้าลางของความเป็นไปไดที่จะมีการออกกฏหมายปฏิรูปภาคการเงินภายในปีนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ประกาศฟ้องร้องโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ ในข้อหาฉ้อโกงในส่วนที่เกี่ยวกับการทำตลาดผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อจำนองซับไพร์ม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วุฒิสภาสหรัฐฯ กำลังจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

แม้เนื้อหาในกฎหมายปฎิรูปภาคการเงินอาจมีการเปลี่ยนแปลงอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้าก่อนจะส่งต่อให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนาม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ข้อเสนอโดยรวมในกฎหมายกำกับดูแลภาคธนาคารและตลาดทุนของสหรัฐฯ นั้น น่าที่จะมีเป้าหมายหลักในการยกเครื่องระบบการเงินของสหรัฐฯ โดยเน้นความเข้มข้นที่การจำกัดความเสี่ยงในภาคธนาคาร การปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคบริการทางการเงิน รวมถึงการเสริมสร้างการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของระบบการเงินเพื่อลดโอกาสของการเกิดวิกฤตภาคการเงินในรอบหน้า เป็นสำคัญ

ประวัติศาสตร์ทางการเงินที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า กฎหมายภาคการเงินของสหรัฐฯ นั้น มีการพัฒนาไปตามยุคสมัย และสภาวะแวดล้อมทางการเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ แผนยกเครื่องระบบการเงินในเวทีระดับโลก และการเปลี่ยนแปลงโมเดลของหน่วยงานอื่นๆ อาทิ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ก็อาจทำให้โฉมหน้าของภาคการเงินในช่วงหลายปีข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน โดยสิ่งที่ต้องติดตามหากการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ถูกตีกรอบจากกฎหมายปฏิรูปภาคการเงินดังกล่าวก็คือ ผลกระทบต่อกำไรของภาคการธนาคาร ตลอดจนดัชนีหุ้นสหรัฐฯ รวมไปถึงค่าเงินดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษสำหรับทางการสหรัฐฯ ในระยะถัดไป ก็คือ แม้กฎหมายปฏิรูปภาคการเงินอาจสามารถจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงในภาคการเงิน และลดโอกาสของการเกิดวิกฤตในรอบถัดไปลง แต่ก็ไม่อาจไว้วางใจได้ว่า วิกฤตการณ์ในรอบหน้าก็อาจเกิดขึ้นมาจากความหละหลวมของการรักษาวินัยทางการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความอ่อนแอของฐานะการคลังที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยาหลายปี ขณะที่ ภาระหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ก็อาจยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่า อาจขยับเข้าใกล้ระดับ 100% ของจีดีพีภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ