Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 มิถุนายน 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงหากปัญหาหนี้สินในยุโรปยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น....กดดันการส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐฯ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2836)

คะแนนเฉลี่ย

แม้การส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรปในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 ยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 20.3 และร้อยละ 22.71 ตามลำดับ แต่แนวโน้มการส่งออกของไทยไปยังตลาดดังกล่าวในช่วงที่เหลือของปีอาจได้รับแรงกดดันให้ชะลอลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯเพื่อใช้ผลิตส่งออกต่อไปยังสหภาพยุโรปน่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้โอกาสที่ผลกระทบของวิกฤตหนี้ในยุโรปต่อการส่งออกของไทยผ่านสหรัฐฯจึงค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม หากปัญหาหนี้สินในยุโรปขยายวงกว้างมากขึ้นซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศยุโรปที่มีขนาดใหญ่และมีบทบาทสำคัญด้านการค้าอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ก็อาจทำให้การส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญของสหภาพยุโรป แต่อย่างไรก็ตามความรุนแรงของผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยคงต้องรอดูความชัดเจนของปัญหาหนี้ในยุโรปขณะนี้ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนหลายประเทศ ซึ่งคาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปจากวิกฤตหนี้สินที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าคงเห็นชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

หากวิกฤตหนี้ในยุโรปยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปยังสหภาพยุโรปและสหรัฐฯในช่วงครึ่งหลังของปี โดยสินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ อัญมณี/เครื่องประดับ รถยนต์/ส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการในทั้งตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรป มีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯและสหภาพยุโรปถึงร้อยละ 62 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังสหรัฐฯและสหภาพยุโรป นอกจากนี้การส่งออกของไทยยังมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากการที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯและเทียบกับยูโรที่มีทิศทางแข็งค่าในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งการค้าในตลาดยุโรปไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบด้านค่าเงินมากนักเนื่องจากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับประเทศอื่นในเอเชีย แต่สำหรับในตลาดสหรัฐฯแม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนของไทยจะค่อนข้างมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศอื่นที่ค่อนข้างผันผวน แต่อัตราการแข็งค่าของค่าเงินบาทไทยเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯถือว่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับเงินรูเปียะห์ของอินโดนีเซีย ดอลลาร์ของสิงคโปร์ ในขณะที่เงินวอนของเกาหลีใต้ค่อนข้างอ่อนค่า ทำให้ประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่ายังเป็นปัจจัยท้าทายต่อการส่งออกไปสหรัฐฯในช่วงที่เหลือของปีนี้

กล่าวโดยสรุปได้ว่าปัญหาหนี้สินในยุโรปที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯถือเป็นปัจจัยท้าทายต่อภาคส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ดังนั้นการเร่งขยายตลาดการค้าไปยังตลาดใหม่นอกเหนือจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ โดยเฉพาะตลาดใหม่ในเอเชียที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วและไทยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) ซึ่งน่าจะช่วยขยายโอกาสทางการส่งออกสินค้าของไทย ทางการไทยจึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA หลายกรอบให้สูงขึ้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการขยายตัวของการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ \

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ