Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 มิถุนายน 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของญี่ปุ่น ... กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายใต้ปัจจัยท้าทายหลายด้าน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2839)

คะแนนเฉลี่ย

นายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ตามมาด้วยการลาออกของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะในวันที่ 4 มิถุนายน การลาออกของนายฮาโตยามะมีสาเหตุเนื่องจากการขาดความเชื่อมั่นจากประชาชนจากประเด็นการย้ายฐานทัพฟูเตมมะของสหรัฐฯ บนเกาะโอกินาวา และปัญหาทุจริตคอรัปชัน รวมไปถึงแรงกดดันจากการที่พรรคสังคมประชาธิปไตย (SDP) ได้ถอนตัวออกไปจากการร่วมรัฐบาล แม้การตัดสินใจลาออกของนายฮาโตยามะไม่น่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากนัก เนื่องจากบุคคลที่ได้รับเลือกเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป คือนายนาโอโตะ คัง ซึ่งเคยทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาก่อนและมาจากพรรคประชาธิปไตย (DPJ) เช่นเดียวกัน จึงไม่น่าจะมีผลกระทบด้านความต่อเนื่องของนโยบาย อย่างไรก็ดี ยังมีหลายประเด็นท้าทายเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นสำหรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้เข้ามาดำเนินการ เพื่อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบัน เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังปรับตัวดีขึ้น บ่งชี้โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้น โดยในไตรมาสแรกของปี 2553 ตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 (YoY) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของ GDP รายไตรมาสในอัตราสูงที่สุดในรอบกว่า 12 ปี ตัวเลข GDP ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของการส่งออก ซึ่งเป็นตัวจักรขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทั้งนี้ การส่งออกของญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ต่อเนื่องถึง 4 เดือนแรกของปี 2553 โดยในเดือนเมษายน 2553 มูลค่าการส่งออกขยายตัวถึงกว่าร้อยละ 40 (YoY) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายประการสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่น ประการแรก คือปัญหาเงินฝืด ล่าสุดในเดือนเมษายน 2553 อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นติดลบร้อยละ 1.2 เป็นการติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 ปัญหาเงินฝืดในญี่ปุ่นมีแรงผลักดันจากปัญหากำลังซื้อภายในประเทศซึ่งตกต่ำลงในปี 2552 จากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินฝืดในญี่ปุ่นมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ราวไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ต่อเนื่องถึง 4 เดือนแรกของปี 2553 ดังนั้น แม้ว่าญี่ปุ่นจะยังมีปัญหาเรื่องการว่างงานและการบริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่ก็มีสัญญาณที่ดีว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวต่ำที่สุด

ประการที่สอง คือปัญหาสถานะการคลังรัฐบาล จากการที่ญี่ปุ่นมีหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDPสูง แต่เก็บภาษีได้น้อยลง โดยมีสาเหตุสำคัญจากการมีประชากรในช่วงวัยทำงานลดลง ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีฐานะการคลังรัฐบาลที่ตึงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และข้อจำกัดในการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้รัฐบาลที่ต่ำทำให้ไม่สามารถดึงดูดแหล่งกู้ยืมจากต่างประเทศได้ ทำให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดหางบประมาณเพื่อนำมาบริหารประเทศให้ได้เพียงพอ ในภาวะที่เศรษฐกิจต้องการการกระตุ้นให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ประการที่สาม ค่าเงินเยนต่อยูโรที่อยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้น เป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของญี่ปุ่นไปยุโรป เนื่องจากวิกฤตหนี้ของกรีซที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ส่งผลทำให้มีความต้องการถือเงินยูโรน้อยลงและมีความต้องการถือครองสกุลเงินเยนทดแทนเงินยูโรมากขึ้นส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโร ความเสี่ยงจากค่าเงินเยนต่อยูโรที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของญี่ปุ่นในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกโดยรวมของญี่ปุ่นอาจไม่มากนัก เนื่องจากค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักจากระดับ ณ ต้นปี ทำให้สินค้าส่งออกของญี่ปุ่นไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับประเทศไทย แนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับยูโรในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น เนื่องจากสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นไปยังสหภาพยุโรป โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มยานยนต์ เครื่องจักร และอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ การแข็งค่าขึ้นของเงินเยนจึงอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากประเทศไทยสำหรับผลิตเป็นสินค้าส่งออก โดยสินค้าส่งออกหลักของไทยที่อาจได้รับผลกระทบคือกลุ่มสินค้าทุนที่ใช้ผลิตเพื่อส่งออก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง (เช่น ยางรถยนต์)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ