Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 มิถุนายน 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

วิกฤตหนี้ยุโรป...ฮังการีอาจไม่ใช่เหยื่อรายสุดท้าย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2217)

คะแนนเฉลี่ย

ภายใต้กระแสหลักของตลาดการเงินที่มุ่งประเด็นความสนใจไปที่ ความแข็งแกร่งของฐานะการคลัง และการรักษาวินัยการคลัง ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ความซับซ้อนของมรสุมวิกฤตการคลังและหนี้สาธารณะเกิดขึ้นจากการที่สถานะการคลังที่ถดถอยเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศให้ความสนใจในการพิจารณาเครดิตของแต่ละประเทศในช่วงเวลาที่วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกรอบล่าสุดได้ยุติลงแล้ว ฮังการี เป็นเหยื่อล่าสุดที่ตอกย้ำความรุนแรงของมรสุมวิกฤตการคลังในยุโรป รวมถึงเป็นชนวนสำคัญของกระแสการหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดการเงิน

อย่างไรก็ดี แม้ตลาดการเงินจะใช้ประเด็นการคลังของฮังการีทุบสินทรัพย์เสี่ยงไม่แตกต่างไปจากประเด็นวินัยทางการคลังที่หละหลวมของกรีซ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและฐานะการคลังของฮังการีมีความแตกต่างซึ่งดีกว่ากรีซอยู่หลายประเด็น อาทิ การฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ การทยอยปรับตัวดีขึ้นของฐานะการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัด ตลอดจนระดับหนี้สาธารณะที่แม้จะยังคงพุ่งขึ้นแต่ก็ไม่ใช่ในอัตราที่เร่ง นอกจากนี้ ทางการฮังการีน่าที่จะสามารถรับมือในกรณีที่วิกฤตเกิดขึ้นจริงได้คล่องตัวกว่าทางการกรีซ เนื่องจากธนาคารกลางฮังการียังคงมีอิสระในการใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราแลกเปลี่ยนสนับสนุนเศรษฐกิจ ในยามที่แรงกระตุ้นจากภาคการคลังสามารถทำได้อย่างจำกัด

สำหรับนัยต่อตลาดการเงินจากประเด็นนี้ ก็คือ ความเสี่ยงในช่วงขาลงของราคาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงนั้น ยังน่าที่จะไม่สิ้นสุดลงในช่วงเวลานี้ นั่นก็เป็นนัยว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เงินยูโรจะอ่อนค่าลงทดสอบแนวรับสำคัญถัดไปที่ระดับ 1.1850 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร ขณะที่ เงินบาทก็อาจมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวรับที่ระดับ 32.65-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้งในระยะสั้น

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีมุมมองว่า วิกฤตความเชื่อมั่น กำลังก่อตัวขึ้นท่ามกลางมรสุมหลายระลอกของวิกฤตหนี้ยุโรป ซึ่งทำให้ความศรัทธาของตลาดการเงินต่อการรักษาวินัยทางการคลังของรัฐบาลประเทศต่างๆ เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นที่สุดในช่วงเวลานี้ ดังนั้น เป้าหมายระยะสั้นของประเทศที่มีฐานะการคลังที่อ่อนแอก็น่าที่อยู่ที่การเร่งผลักดันแผนรัดเข็มขัดทางการคลังที่สามารถดำเนินการได้จริง การรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเจรจาแผนสนับสนุนทางการเงินเพื่อรองรับกรณีเลวร้ายของวิกฤต ซึ่งก็จะมีนัยต่อเนื่องให้แนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องมีการรัดเข็มขัดทางการคลังอย่างเข้มงวด ต้องชะลอตัวลงไปอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง แต่ระดับของความซบเซาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่ละประเทศก็อาจจะมีความแตกต่างกันไปตามความยืดหยุ่นของการใช้นโยบายการเงิน นอกจากนี้ ประเด็นเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังก็คือ ประเด็นที่สืบเนื่องตามมาจากความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดทางเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ และภาคการธนาคารของประเทศที่อาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตหนี้ยุโรปในรอบนี้ไปได้กับประเทศในยุโรปด้วยกันเอง ขณะที่ ประเด็นระยะยาวกว่านั้นหลังจากที่มรสุมวิกฤตการคลังผ่านพ้นไปแล้ว ก็คือ การยกเครื่องและปฎิรูปเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ/การเงิน/การคลัง เพื่อลดโอกาสของการเกิดวิกฤตระลอกใหม่ และเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ซึ่งสำหรับไทยนั้น ก็คงต้องเตรียมรับมือผลกระทบทางอ้อมที่มีต่อการส่งออก และตลาดการเงินของไทยทั้งในส่วนที่เกิดจากการไหลออกของเงินทุนระยะสั้นจากกระแสการเลี่ยงความเสี่ยง และความผันผวนของค่าเงินบาทที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ