Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 มิถุนายน 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนยังต้องเผชิญหลายปัจจัยลบ ... แม้คาดว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในครึ่งหลังปี 2553 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2846)

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้มีปัจจัยกดดันการฟื้นตัวหลายด้าน ได้แก่ ภาคส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สินยุโรปที่ยังมีความไม่แน่นอน การบริโภคและการลงทุนภายในจีนที่มีแนวโน้มชะลอลงตามมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจบางด้านในจีนได้เริ่มชะลอลงในเดือนพฤษภาคม อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอาจกดดันต้นทุนทางธุรกิจ รวมถึงปัญหาค่าแรงและการผละงานในโรงงานบางแห่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสะท้อนว่าต้นทุนด้านแรงงานในจีนอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไปซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปจัดตั้งฐานการผลิตในจีน และอาจทำให้สูญเสียความน่าดึงดูดในการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมหลายประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ขณะที่ความเสี่ยงจากฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์อาจส่งผลให้ยอดขายและราคาอสังหาริมทรัพย์ระดับบนในเมืองใหญ่ชะลอลงต่อเนื่องและจะส่งกระทบต่อนักลงทุนเก็งกำไร รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคธนาคารที่ปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนที่สูงซึ่งอาจทำให้หนี้ NPLs เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ล่างยังน่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังคงได้แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เริ่มในช่วงปลายปี 2551 ระยะเวลา 2 ปีที่จะสิ้นสุดในปลายปีนี้ ทำให้การบริโภคและการลงทุนในจีนยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ แม้ว่าอาจจะชะลอลงบ้าง ขณะที่ภาคส่งออกของจีนยังน่าจะได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่มีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่าอาจยังไม่มั่นคงนักเนื่องจากปัญหาการว่างงานของประเทศทั้งสองที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจจีนยังน่าจะเติบโตได้ดีขึ้นในอัตราราวร้อยละ 10 ในปีนี้ จากที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ในปี 2552 ซึ่งจะส่งผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียและไทยผ่านความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนที่ยังขยายตัวต่อไปได้ แม้ว่าความต้องการนำเข้าสินค้าบางประเภทของจีนอาจชะลอลงตามมาตรการควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ เช่น สินค้าที่ใช้ในภาคก่อสร้างที่อาจต้องชะลอลงตามภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคยานยนต์ที่อ่อนแรงลง ที่สำคัญ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เช่น ทองแดง สินแร่เหล็กที่ใช้การผลิตเหล็ก รวมทั้งยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ