Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 มิถุนายน 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ECFA: โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไต้หวัน ... ความเป็นไปได้ของผลกระทบต่อการค้าการลงทุนกับไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2855)

คะแนนเฉลี่ย

โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจช่องแคบไต้หวัน Economic Cooperation Framework Agreement (ECFA) ซึ่งเป็นโครงการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนระหว่างจีน-ไต้หวัน ล่าสุดได้มีการเจรจารอบที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีการตกลงกันในประเด็นสินค้าที่จะเปิดเสรีระหว่างกันรอบแรก (Early Harvest) โดยได้มีการเจรจาลดภาษีสินค้าในกลุ่มปิโตรเคมี เครื่องจักร และชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวนกว่า 200 รายการสำหรับการส่งออกจากจีนไปยังไต้หวัน และประมาณ 500 รายการสำหรับการส่งออกจากไต้หวันไปยังจีน ทั้งนี้ความตกลงดังกล่าวได้มีการเจรจาครั้งแรกในเดือนมกราคม และครั้งที่สองในเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา

สำหรับการลงนามข้อตกลง ECFA นั้น Straits Exchange Foundation (SEF) คาดว่าจะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งที่ 5 ของ Straits Exchange Foundation (SEF) และ Association for Relations Across the Taiwan Straits (ARATS) อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะยังไม่มีความแน่นอนเรื่องตัวสินค้าและกำหนดเวลาที่จะเริ่มลดภาษีระหว่างกัน แต่ถือได้ว่าความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีความคืบหน้าที่สำคัญ และอาจมีผลกระทบต่อการค้าการลงทุนกับไทยในอนาคต

ข้อตกลง ECFA มีแนวโน้มส่งผลให้มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างจีนและไต้หวันเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าของการส่งออกจากจีนไปไต้หวัน และมูลค่าการส่งออกจากไต้หวันไปจีนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 (YoY) ใน 4 เดือนแรกของปีนี้ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างประเทศทั้งสอง ทั้งนี้จีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน ในปี 2552 มูลค่าการส่งออกไปยังจีนและฮ่องกงคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมดของไต้หวัน

ในส่วนของการลงทุน ใน 4 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนของนักลงทุนไต้หวันในจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.7 (YoY) ทั้งนี้จีนเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน อุตสาหกรรมที่สำคัญคืออุตสาหกรรมไอที โดยฐานการผลิตสินค้าไอทีของไต้หวันร้อยละ 90 อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ในส่วนของการลงทุนของนักลงทุนจีนในไต้หวันมีเพิ่มขึ้นจากการที่ในปี 2552 ไต้หวันเริ่มเปิดให้นักลงทุนจีนแผ่นดินใหญ่ลงทุนในไต้หวันในกิจการที่ไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศได้มากขึ้น ทำให้เริ่มมีมูลค่าการลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาในไต้หวันในครึ่งหลังของปี 2552 มากขึ้น

สำหรับผลกระทบต่อไทยในระยะต่อไปนั้น สินค้าส่งออกจากไทยไปยังจีนและไต้หวันอาจต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้นจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างจีน-ไต้หวันหากอัตราภาษีที่ทั้งสองประเทศจะบังคับใช้ระหว่างกันเป็นอัตราที่ได้เปรียบคู่ค้าอื่นๆ โดยสินค้าออกหลักของไทยไปยังจีนบางชนิดที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงหากข้อตกลง ECFA ทำให้จีนต้องลดภาษีให้กับสินค้าจากไต้หวันในอัตราต่ำกว่า ได้แก่ สินค้ากลุ่มส่วนประกอบเครื่องจักร (HS 8473) และสารเคมีประเภทโพลีอะซีทัล โพลีเอทิลีนอื่นๆ (HS 3907) ในส่วนของผลกระทบโดยตรงของข้อตกลงดังกล่าวต่อสินค้าออกของไทยไปยังไต้หวันยังจำกัดอยู่เพียงสินค้าบางรายการซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปไต้หวันไม่มากนัก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ (HS 8415) และส่วนประกอบยานยนต์ (HS 8708) ส่วนผลกระทบโดยอ้อมต่อไทยคือ ความได้เปรียบที่เพิ่มขึ้นของสินค้าข้ามพรมแดนของจีนและไต้หวันเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าไทยในอัตราภาษีที่เท่ากัน เนื่องจากระยะทางในการขนส่งสินค้าซึ่งทำได้สะดวกกว่าและประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า

การลงทุนจากไต้หวันมายังประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ หากข้อตกลง ECFA มีการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนระหว่างกันมากกว่าชาติอื่นๆ ในปี 2552 อุตสาหกรรมที่นักลงทุนไต้หวันเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 เปลี่ยนแปลงจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไปเป็นธุรกิจบริการ แม้ว่ามูลค่าโครงการของไต้หวันที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยยังเพิ่มขึ้นในปี 2552 และใน 4 เดือนแรกของปีนี้ แต่การที่อุตสาหกรรมที่ไต้หวันสนใจเข้ามาลงทุนเปลี่ยนไป สะท้อนถึงความเป็นไปได้ของการขยายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวันในประเทศอื่น และยิ่งถ้าได้รับปัจจัยเสริม หากข้อตกลง ECFA ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนกับจีนมากกว่าชาติอื่นๆ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่ไต้หวันจะย้ายฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากไทยไปยังจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น การประกาศเพิ่มความยืดหยุ่นค่าเงินหยวนในวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาไม่น่าจะทำให้ไต้หวันสูญเสียความสามารถในการลงทุนในจีน เนื่องจากในระยะสั้นดอลลาร์ไต้หวันมีการแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับเงินหยวน และแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินหยวนโดยเปรียบเทียบ อย่างไรก็ดีควรจับตามองในระยะต่อไปถึงการเคลื่อนไหวค่าเงินทั้งสองโดยเปรียบเทียบ เนื่องจากอาจเป็นตัวแปรหนึ่งที่จะส่งผลต่อการลงทุนระหว่างกันของทั้งสองประเทศในระยะต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ