Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 สิงหาคม 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เลือกตั้งออสเตรเลีย ... กับปัจจัยท้าทายทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2906)

คะแนนเฉลี่ย

การเลือกตั้งในออสเตรเลียที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ จะเป็นการแข่งขันกันระหว่างนางจูเลีย กิลลาร์ด จากพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน และนายโทนี แอบบ็อท จากพรรคเสรีนิยม โดยนโยบายทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันในประเด็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายการคลัง โดยเฉพาะประเด็นภาษีกิจการเหมืองแร่ฉบับใหม่ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร รัฐบาลชุดใหม่คงต้องรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายด้านในช่วงที่เหลือของปีนี้

ความท้าทายประการแรกสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ คือ การรักษาการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงาน และส่งผลดีต่อการบริโภค โดยที่ผ่านมาการจ้างงานในอุตสาหกรรมแร่ธาตุทำให้อัตราการว่างงานในออสเตรเลียลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การชะลอความร้อนแรงลงของเศรษฐกิจจีนและอินเดียเป็นปัจจัยที่ควรจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการส่งออกเหล็กและถ่านหินจากออสเตรเลียได้

ความท้าทายประการที่สอง คือ การควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งถูกเร่งโดยการเติบโตทางเศรษฐกิจนำโดยอุตสาหกรรมแร่ธาตุ โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของออสเตรเลียมีอัตราเร่งขึ้นโดยตลอดจนกระทั่งใกล้เคียงกับช่วงเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการ จึงมีแนวโน้มว่าทางการออสเตรเลียอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในระยะอันใกล้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและการบริโภคในประเทศ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการปรับอัตราดอกเบี้ยระลอกที่ผ่านมาระหว่างเดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนพฤษภาคม 2553 ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ของออสเตรเลีย ในการควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไป ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแร่ธาตุเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต้านทานภาวะเงินเฟ้อก็อาจต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศควบคู่ไปด้วย

นอกจากนั้น ความท้าทายอีกประการหนึ่งของรัฐบาลชุดใหม่ คือการแก้ไขการหดตัวในธุรกิจบริการที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ซึ่งมีการหดตัวในเกือบทุกสาขาบริการ เช่น ค้าส่งค้าปลีก ภัตตาคาร และการขนส่ง

สำหรับการส่งออกของไทยไปออสเตรเลียในครึ่งหลังของปี 2553 มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 41.53 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (YoY) แม้ว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงให้ชะลอลงบ้างจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของออสเตรเลียจากอัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้น ซึ่งกดดันต่อภาคการบริโภคในออสเตรเลีย และเศรษฐกิจออสเตรเลียที่อาจเติบโตชะลอลงเนื่องจากแรงขับเคลื่อนทางการส่งออกแร่ธาตุที่อ่อนแรงลงตามมาตรการควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย ถือเป็นอีกปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลียเช่นกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ