Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 สิงหาคม 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เวียดนามปรับลดค่าเงินอีกครั้ง 2% .... ปัญหาขาดดุลการค้าเรื้อรัง บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเวียดนาม (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2909)

คะแนนเฉลี่ย

เวียดนามประกาศปรับลดค่าเงินร้อยละ 2 เริ่มมีผลในวันที่ 18 สิงหาคม 2553 นี้ ถือเป็นการปรับลดค่าเงินด่องเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 10 เดือน เนื่องจากปัญหาการขาดดุลการค้าที่พุ่งขึ้นในเดือนกรกฎาคม ส่งผลกดดันต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนาม และกดดันให้ค่าเงินด่องอ่อนค่า ทำให้การรักษาเสถียรภาพค่าเงินด่องของทางการเวียดนามลำบากมากขึ้นด้วยเงินสำรองต่างประเทศที่ค่อนข้างจำกัด อีกสาเหตุหนึ่งคาดว่า เนื่องจากทางการเวียดนามต้องการรักษาความแตกต่างของค่าเงินด่องในตลาดมืดและอัตราแลกเปลี่ยนของทางการไม่ให้ห่างกันมากนัก หลังจากที่อัตราแลกเปลี่ยนด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ของ 2 ตลาดเริ่มห่างกันมากขึ้นในเดือนกรกฎาคม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ปัญหาท้าทายหลายด้านที่อาจส่งผลต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจเวียดนาม ได้แก่ เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ยังเป็นผลมาจากปัญหาการขาดดุลการค้าที่ยังคงถูกกดดันจากการนำเข้าที่คาดว่ายังคงขยายตัวสูงกว่าภาคส่งออก ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกดดันต่อค่าเงินด่อง และทำให้เงินสำรองต่างประเทศปรับลดลง รวมถึงเสถียรภาพด้านราคาที่มาจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคาดว่ายังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะชะลอลงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออกที่ยังเติบโตต่อไปได้แม้ว่าน่าจะยังขยายตัวไม่สูงนักตามเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่ค่าเงินด่องที่อ่อนค่าลงยังช่วยสนับสนุนการส่งออกอีกทางหนึ่ง ส่วนเศรษฐกิจภายในยังได้แรงหนุนจากการนโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของทางการเวียดนามที่ส่งผลให้ภาคก่อสร้างและภาคบริการยังเติบโตได้ต่อเนื่อง

สำหรับผลต่อประเทศไทยนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตได้ต่อเนื่องในปีนี้ คาดว่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยไปเวียดนามยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากที่เติบโตร้อยละ 36 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ขณะเดียวกัน การปรับลดค่าเงินด่องในครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของเวียดนามในตลาดโลกปรับสูงขึ้นอีก จากเดิมที่สินค้าส่งออกของเวียดนามมีศักยภาพการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญที่เป็นคู่แข่งกับเวียดนามในตลาดโลก ได้แก่ ข้าว ยางพารา อาหารทะเลแปรรูป สิ่งทอ/เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้า คาดว่าภาคส่งออกของไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้าส่งออกของเวียดนามที่รุนแรงขึ้นในตลาดโลก ในภาวะที่ค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าในช่วงที่เหลือของปีนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ