Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 ตุลาคม 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ...ผลต่อไทยอยู่ในวงจำกัด (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2962)

คะแนนเฉลี่ย

ประเด็นการโจมตีค่าเงินหยวนระหว่างสหรัฐฯกับจีนล่าสุดที่มีการเพิ่มระดับความร้อนแรงขึ้น โดยสหรัฐฯหวังกดดันให้จีนปล่อยค่าเงินหยวนแข็งค่ามากขึ้นอีกภายหลังจากที่ทางการจีนได้ประกาศยืดหยุ่นค่าเงินหยวนเพื่อผ่อนคลายแรงกดดันจากสหรัฐฯ ในวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา(นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 จนถึง 19 มิถุนายน 2553 ค่าเงินหยวนได้คงไว้ที่ 6.83 หยวนต่อเหรียญสหรัฐฯ) แต่ค่าเงินหยวนของจีนก็แข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 2.7 นับจากวันที่ 19 มิถุนายน 2553 ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯเห็นว่าค่าเงินหยวนที่แท้จริงควรแข็งค่าขึ้นอีกร้อยละ 20-40 และมองว่าการแทรกแซงค่าเงินหยวนของทางการจีนทำให้เกิดการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ ทางการสหรัฐฯจึงผ่านร่างกฎหมายปฎิรูปสกุลเงินเพื่อการค้าที่เป็นธรรม(Currency Reform for Fair Trade Act) ในวันที่ 29 กันยายน 2553 เพื่อกดดันให้จีนปรับขึ้นค่าเงินหยวนขึ้นอีกหรือให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง และแม้จะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที แต่จีนก็ได้ออกมาตรการด้านภาษีเป็นการตอบโต้สหรัฐฯอย่างฉับพลันเพื่อกีดกันการนำเข้าจากสหรัฐฯเช่นกัน ทำให้การขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศที่มีเครือข่ายการผลิตเชื่อมโยงกันอาจไม่ราบรื่นนักในช่วงที่เหลือของปี 2553

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทางการจีนน่าจะยังคงปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะมิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคส่งออกของจีนได้ แต่อาจจะมีการขยับขึ้นไปในระดับหนึ่งที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจสำหรับทั้งสองฝ่ายเพื่อลดแรงกดดัน ขณะเดียวกันมาตรการตอบโต้ทางด้านภาษีของสหรัฐฯต่อจีนก็คงไม่ครอบคลุมสินค้าในวงกว้างและมีระดับการขึ้นภาษีไม่รุนแรงมาก เพราะจีนมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการจ้างแรงงานในสายการผลิตเพื่อการส่งออกไปจีน รวมทั้งจีนยังเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก และเป็นแหล่งผลิตสินค้าต้นทุนต่ำที่สำคัญของสหรัฐฯ

กล่าวคือ คาดว่ากรณีขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนน่าจะอยู่ในวงจำกัดเพราะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ต้องพึ่งพากัน ดังนั้นผลกระทบทางอ้อมที่เกิดกับไทยจึงไม่น่าจะรุนแรงนัก ในด้านการค้าของไทยกับจีน สินค้าไทยอาจได้รับผลกระทบบ้างจากการชะลอตัวของภาคธุรกิจในจีน แต่การส่งออกของไทยก็น่าจะยังสามารถขยายตัวได้เพราะไทยเป็นเครือข่ายการผลิตที่ใกล้ชิดกับจีน เป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้าทุนที่มีคุณภาพ ทั้งยังเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้รับความยอมรับจากผู้บริโภคในจีนอีกด้วย สำหรับด้านการค้าของไทยกับสหรัฐฯ คาดว่าสินค้าไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากกรณีดังกล่าว แต่ประเด็นที่ต้องติดตามและอาจส่งผลต่อการค้าของไทยกับสหรัฐฯคือ ทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯโดยเฉพาะการฟื้นตัวด้านการจ้างงานในประเทศ และภาคการส่งออกที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ