Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 ธันวาคม 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกาหลีใต้: ยังมีแนวโน้มที่ดี ... แต่ไทยควรเร่งรักษาตลาดส่งออกชิ้นส่วนและดึงดูดนักลงทุน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3008)

คะแนนเฉลี่ย

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก นอกจากนั้นยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อีกด้วย แม้ว่าในปี 2553 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งจากการแข่งขันของคู่แข่งระดับโลก และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป แต่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ก็ยังสามารถเติบโตเป็นบวกได้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 ที่ร้อยละ 28.9 (YoY) และร้อยละ 14.4 (YoY) เมื่อไม่รวมกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากชื่อเสียงและการเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ โทรทัศน์ และอุปกรณ์สื่อสาร เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพยุงภาคการส่งออกและเศรษฐกิจเกาหลีใต้โดยรวม ซึ่งธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปีนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 (YoY) จากที่เติบโตเพียงร้อยละ 0.2 (YoY) ในปี 2552 ทั้งนี้ คาดว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้จะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปี 2554 ซึ่งย่อมเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไทยด้วย เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกที่สำคัญของสินค้ากลุ่มนี้ อย่างไรก็ดี ไทยมีคู่แข่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดหลายระดับ ทั้งในระดับโลก อย่างสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน และในระดับอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะสิงคโปร์นั้นนับว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรคอมพิวเตอร์ที่สำคัญอย่างมากในภูมิภาคอาเซียน และในส่วนของการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ในระดับอาเซียน คู่แข่งของไทยคือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศในอาเซียนแล้ว สถานะของประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการส่งออกที่สำคัญ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นสำคัญที่ไทยควรรักษาไว้ให้ได้โดยเฉพาะในภาวะที่การค้าเสรีกำลังจะทำให้อุปสรรคทางการค้าลดลงและผลักดันให้มีการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในศูนย์กลางเดียวเพิ่มมากขึ้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการรองรับการลงทุนจากต่างชาตินั้น ไทยมีจุดแข็งที่ฝีมือแรงงาน และความสามารถในการผลิต สาธารณูปโภคที่มีความพร้อม ประกอบกับปัญหามาบตาพุดที่คลี่คลายลงไป ในขณะที่มีปัจจัยที่ควรเร่งปรับตัวคือ แรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางที่ยังขาดแคลน และความสอดคล้องเหมาะสมระหว่างการให้ความคุ้มครองอุตสาหกรรมวัตถุดิบต้นน้ำและการสนับสนุนอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนั้น ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ก็นับเป็นทั้งโอกาสและปัจจัยท้าทายของประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการเริ่มลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ของ CLMV ในปี 2558 รวมไปถึงการที่อาเซียนจะสามารถส่งออกสินค้าไปอินเดียด้วยอัตราภาษีเป็นร้อยละ 0 หลายรายการมากขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไปจากกรอบ ASEAN-India ซึ่งทำให้ไทยและประเทศอาเซียนต่างๆ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขทางการลงทุนให้มีความพร้อมต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรักษาสถานะการแข่งขันไว้ได้ในเวทีการค้าและการลงทุน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ