Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 พฤษภาคม 2554

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ภัยพิบัติอาจฉุดเศรษฐกิจญี่ปุ่นทรุดตัวหนักขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3114)

คะแนนเฉลี่ย

เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างรุนแรง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการเกษตร จากความเสียหายของโรงงานอุตสาหกรรม การขาดแคลนไฟฟ้า การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี และการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยว ซึ่งสะท้อนได้จากการหดตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรกของปี 2554 ที่ระดับร้อยละ 0.7 (YoY) แม้ว่าภาคการผลิตและการจ้างงานของญี่ปุ่นในช่วง 2 เดือนแรกปี 2554 จะส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวที่ดีก็ตาม ซึ่งยืนยันโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และ Purchasing Manager Index ที่ยังรักษาทิศทางเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 และตัวเลขการว่างงานที่ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2553

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2554 แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้รับปัจจัยบวกจากงบฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล และการทยอยฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ แต่ด้วยความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 ประกอบกับปัจจัยท้าทายด้านความเพียงพอของพลังงานไฟฟ้าซึ่งอาจกดดันการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2554 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 2554 เป็นหดตัวร้อยละ 0.3 (YoY) จากเดิมที่คาดว่าอาจขยายตัวเป็นบวกได้ โดยคาดว่าอัตราการเติบโตในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 อาจหดตัวมากขึ้นเป็นร้อยละ 1.9 (YoY) (หรือ-1.1 (QoQ)) หลังจากที่ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 หดตัวร้อยละ 0.7 (YoY) (หรือ-0.9 (QoQ)) แต่น่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 และเติบโตเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ซึ่งการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาความขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์ญี่ปุ่นในไทยได้ และผลักดันให้การส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนญี่ปุ่นอาจเริ่มพิจารณาถึงการย้ายฐานการผลิตออกนอกญี่ปุ่นมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ภายหลังจากที่ต้องเผชิญกับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว ดังนั้นไทยจึงควรถือเป็นโอกาสสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่น โดยการเร่งพัฒนาแรงงานเฉพาะทางซึ่งยังมีไม่เพียงพอ ตลอดจนพัฒนาผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้นไปพร้อมกับแนวโน้มการปรับขึ้นค่าจ้าง และเร่งพัฒนามาตรการสนับสนุนจากภาครัฐให้เป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ไทยสามารถรักษาความน่าสนใจในฐานะแหล่งรองรับการลงทุนชั้นแนวหน้าของอาเซียนได้ต่อไปในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ