Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 มิถุนายน 2554

เศรษฐกิจต่างประเทศ

แม้ไม่มีสัญญาณ QE 3 ที่ชัดเจน แต่นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ยังคงผ่อนคลาย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3127)

คะแนนเฉลี่ย

แถลงการณ์หลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมาเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด โดยเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำมากในกรอบร้อยละ 0.0-0.25 พร้อมกับยืนยันว่า จะปล่อยให้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสอง (QE 2) สิ้นสุดลงตามวาระในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ แต่จะไม่รีบถอนสภาพคล่องออกจากระบบ โดยเฟดจะนำเม็ดเงินจากการครบกำหนดไถ่ถอนของตราสารที่เฟดถือครองในงบดุลกลับเข้าลงทุนใหม่อีกรอบหนึ่ง ซึ่งก็เท่ากับว่า ขนาดงบดุลของเฟดจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

สำหรับในส่วนของมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟดนั้น เฟดได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2554-2556 ลงเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ โดยเฟดยอมรับว่า เศรษฐกิจบางภาคส่วนมีทิศทางชะลอลง (โดยเฉพาะในส่วนของตลาดแรงงานและภาคอสังหาริมทรัพย์) อย่างไรก็ดี เฟดปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับช่วงประมาณการดังกล่าวขึ้น และยังคงมุมมองเชิงบวกต่อการวกกลับเข้าสู่ทิศทางการฟื้นตัวอีกครั้งของโมเมนตัมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ทั้งนี้ จากมุมมองดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดยังไม่น่าที่จะประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE 3) ออกมาในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากเฟดอาจจะต้องการเวลาในการประเมินสถานการณ์และพัฒนาการทางเศรษฐกิจอีกระยะหนึ่ง ซึ่งก็เท่ากับว่า สัญญาณการเปลี่ยนขั้วนโยบายการเงินจะยังไม่ถูกเปลี่ยนเป็นเชิงคุมเข้ม และเฟดก็น่าที่จะเป็นธนาคารกลางลำดับท้ายๆ ของโลกที่เข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ทั้งนี้ ท่ามกลางความเปราะบางของทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจต้องเผชิญกับปัจจัยไม่แน่นอนทั้งจากปัญหาเชิงโครงสร้างในสหรัฐฯ (อาทิ อัตราการว่างงาน และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อาจใช้เวลานานกว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนวิกฤต) และวิกฤตด้านการคลังในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้เครือธนาคารกสิกรไทย โดยสายงานธุรกิจตลาดทุน คาดว่า เฟดอาจมีความจำเป็นต้องยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.0-0.25 ตลอดระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ และอาจคาบเกี่ยวต่อไปในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปีหน้า ซึ่งย่อมเท่ากับว่า วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ยังคงเป็นขาขึ้น จะส่งผลทำให้ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจจะช่วยหนุนทิศทางเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2554

อนึ่ง นอกจากทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญกับความเปราะบางจากหลายปัจจัยตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว อีกความเสี่ยงหนึ่งที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับความอ่อนแอของฐานะการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องของระดับหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงกว่าเพดานที่กำหนด (ขณะที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือกล่าวเตือนถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะสูญเสียอันดับเครดิต AAA หากสภาคองเกรสและทำเนียบขาวไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่จะขยับเพิ่มเพดานนี้ก่อนเส้นตายช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคม) และเรื่องการวางแนวทางการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณ ซึ่งในประเด็นหลังนี้ มุมมองของเฟดสะท้อนความกังวลออกมาว่า หากมาตรการรัดเข็มขัดของทางการคลังของสหรัฐฯ มีความเข้มงวดมากเกินไป ในท้ายที่สุดก็อาจส่งผลกระทบย้อนกลับมาที่เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ให้ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ) ในช่วงหลายปีข้างหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ