นอกเหนือจากประเด็นหนี้สาธารณะของยุโรปที่สร้างความวิตกกังวลให้กับตลาดเงินและตลาดทุนในช่วงนี้แล้ว ปัญหาหนี้สินทางการคลังของสหรัฐฯ ก็เป็นอีกประเด็นที่ตลาดให้ความสนใจในวงกว้าง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก ดังนั้น เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ ก็ย่อมจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงตลาดการเงินโลกอย่างยากจะหลีกเลี่ยง โดย ณ ขณะนี้ปัญหาเฉพาะหน้าที่สหรัฐฯ เผชิญอยู่ คือ ปัญหาหนี้สินที่ชนเพดานการก่อหนี้ที่เคยตั้งไว้ แต่จากการที่ประเด็นดังกล่าวถูกใช้เป็นเกมต่อรองอำนาจทางการเมือง ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2555 อีกทั้ง ยังพันอยู่กับการถกเถียงของสองพรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณและแนวทางลดการขาดดุลงบประมาณในอีก 10-12 ปีข้างหน้า ดังนั้น จึงทำให้การเพิ่มเพดานหนี้ในรอบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งหากทางการสหรัฐฯ ไม่สามารถแสดงแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับงบประมาณและเพดานหนี้ภายในกำหนดเวลาที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระบุไว้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2554 ตลอดจนไม่สามารถปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้ภายในวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายสุดท้ายที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ สามารถประคองระดับความเพียงพอของกระแสเงินสดเพื่อชำระหนี้ไว้ได้ สหรัฐฯ ก็อาจต้องเผชิญกับภาวะ ;ผิดนัดชำระหนี้ทางเทคนิค” (Technical Default) ซึ่งอาจตามมาด้วยการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากระดับสูงสุดที่ AAA เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วย
กระนั้นก็ดี เนื่องจากผลกระทบที่ตามมาจากการไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ทางการคลังได้ตามกำหนดต่างๆ ดังกล่าว อยู่ในระดับสูงมาก ดังนั้น จึงเชื่อว่ารัฐบาล และประธานาธิบดีสหรัฐฯ คงเน้นแนวทางประนีประนอมเพื่อนำมาสู่ข้อสรุปด้านงบประมาณอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ ซึ่งน่าจะทำให้ประสบความสำเร็จในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ตามมา และสหรัฐฯ น่าจะยังสามารถประคองอันดับความน่าเชื่อถือ และสถานะของตนในเวทีโลกไว้ได้ อย่างน้อยก็ในขณะนี้ ขณะที่ การเดินหน้าตามแผนรัดเข็มขัดทางการคลังของสหรัฐฯ คงมีผลชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงส่งผ่านผลกระทบบางส่วนมายังโลกและไทย
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเสี่ยงต่อการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว ก็ยังคงมีอยู่ในระยะถัดไป โดยเฉพาะหากรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถเดินหน้าแผนการปรับลดรายจ่ายได้ตามคาด หรือปรากฏปัจจัยลบอันไม่คาดคิด (Shocks) ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่คงทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลงได้ตามที่วางแผนไว้ ทั้งนี้ ในกรณีดังกล่าว เศรษฐกิจสหรัฐฯ คงเผชิญแรงซ้ำเติมจากหลายปัจจัยลบมากกว่าเดิม โดยเฉพาะจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ลดลง ตลอดจนความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ ตลาดการเงินโลกคงปั่นป่วนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
สำหรับไทยนั้น ปัญหาดังกล่าวของสหรัฐฯ คงส่งผ่านผลกระทบมายังไทยได้หลายช่องทาง อาทิ การส่งออก ที่อาจเผชิญปัจจัยถ่วงทั้งจากอำนาจซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ลดลงและเงินบาทที่มีโอกาสแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ (ในระยะปานกลางถึงยาว) รวมถึงผลกระทบต่อตลาดการเงิน โดยเฉพาะจากการที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวน ท่ามกลางภาวะที่นักลงทุนอาจอยากลดการถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ฯ แต่ยังไม่สามารถหาสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีสภาพคล่องและความน่าเชื่อถือในระดับที่ทดแทนกันได้ในระยะสั้น กระนั้นก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐฯ ที่อ่อนแอลงจากเดิม อาจทำให้สินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ มีโอกาสด้อยค่าลงในระยะยาว ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่นักลงทุน โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย คงต้องเดินหน้าลดบทบาทของสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ ในทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลง เพื่อประคองความมั่งคั่งแท้จริงในรูปเงินบาทไว้
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น