Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 สิงหาคม 2554

เศรษฐกิจไทย

ตลาดวิตกปัญหาหนี้ลุกลาม ดึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรปทรุด ...ผลต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3155)

คะแนนเฉลี่ย

จากสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ปรากฏภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านเครื่องชี้หลายด้าน ทั้งการบริโภค การจ้างงาน และตัวเลขภาคการผลิต ท่ามกลางจังหวะเวลาที่รัฐบาลสหรัฐฯ แม้ผ่านเส้นตายการขยายเพดานหนี้มาได้ในท้ายที่สุด แต่ก็เผชิญเงื่อนไขการตัดลดการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งคงกลายมาเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในอนาคตอย่างไม่อาจเลี่ยง ขณะเดียวกัน สถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือต่างยังเฝ้าจับตาดูประเด็นฐานะการคลังของสหรัฐฯ โดยยังไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ในอนาคตที่สหรัฐฯ ยังเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากระดับ AAA ในปัจจุบัน

พร้อมกันนั้น ในฟากยูโรโซน ท่ามกลางกระแสความวิตกกังวลต่อปัญหาหนี้ในประเทศกลุ่ม PIGS ยังไม่ทันจางหาย แต่ความกังวล ณ ขณะนี้ได้พุ่งเป้าไปที่ประเทศเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 และ 4 ของยูโรโซน คืออิตาลีและสเปน ว่าประเทศทั้งสองอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของอิตาลีและสเปนพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง

จากกรณีที่ทั่วโลกต่างกำลังวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนอาจถลำลงสู่ภาวะถดถอยรอบสอง หรือ Double-Dip Recess นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีดังกล่าว ธุรกิจไทยที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงน่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และยูโรโซนในระดับสูง โดยกลุ่มที่มีโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุด (พึ่งพาสหรัฐฯ และยูโรโซน สูงกว่าร้อยละ 40) เช่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้ง ไก่ และผลไม้กระป๋องและแปรรูปนั้น แม้พึ่งพาตลาด 2 กลุ่มนี้สูง แต่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค ผลกระทบจึงน่าจะรุนแรงน้อยกว่า

กลุ่มที่มีโอกาสได้รับผลกระทบค่อนข้างมากรองลงมา ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ คอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ วิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่มีโอกาสได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เช่น สินค้าเกษตร รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่รวมกันกว่าร้อยละ 40 ของโลกถลำลงสู่ Double-Dip Recession ภูมิภาคอื่นๆ ของโลกคงยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบ และเศรษฐกิจโลกคงถูกฉุดให้ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งคงถ่วงให้การส่งออกของไทยในปี 2555 ต่ำกว่ากรอบประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 12.0-17.0 อย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน โดยในกรณีเลวร้ายอาจกดให้ตัวเลขการเติบโตของการส่งออกเอนเข้าหาแดนลบดังเช่นวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในรอบก่อนๆ ที่ผ่านมา แต่โดยรวมก็คงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจของเอเชีย และราคาสินค้าโภคภัณฑ์

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ในช่วงปีที่สหรัฐฯ ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยมักถูกฉุดให้ชะลอตัวลงแรงหรือหดตัวตามไปด้วย หากในกรณีดีที่สุด ถ้าเศรษฐกิจจีนและประเทศเอเชียอื่นๆ ยังมีแรงขับเคลื่อนให้ขยายตัวได้พอสมควร และหากรัฐบาลไทยมีมาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจากภายในประเทศอย่างเข้มข้น เศรษฐกิจไทยก็อาจยังมีโอกาสที่จะขยายตัวเป็นบวกได้ แต่คงเป็นอัตราไม่สูงนักคือไม่น่าจะเกินร้อยละ 2

อนึ่ง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง ทิศทางความผันผวนของค่าเงินอาจมีผลทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะภาคส่งออกต้องใช้ความระมัดระวังในการบริหารจัดการธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนมากยิ่งขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย