หากกล่าวถึงเหตุการณ์ในตลาดโลกที่กำลังอยู่ในความสนใจในระยะนี้ คงหนีไม่พ้นปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เผชิญหลายสัญญาณลบและปัจจัยถ่วงพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ มุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2/2554 จากหลายปัจจัย กล่าวคือ ประการแรก การที่เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญหลายๆ ด้านออกมาย่ำแย่กว่าความคาดหมาย อาทิ การร่วงลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภค การทบทวนจีดีพี ไตรมาส 2/2554 และล่าสุด ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm payrolls) เดือนสิงหาคม 2554 ที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งทำให้ตลาดตั้งคำถามถึงเสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ประการที่สอง ปัญหาภาคการคลังของสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากการใช้หลากมาตรการทางการคลังเพื่อฟื้นเศรษฐกิจจากภาวะถดถอยในช่วงปี 2551 (2008) ซึ่งส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ พุ่งชนเพดานการก่อหนี้ตามกฎหมายในเดือนพฤษภาคม 2554 ท่ามกลางภาพความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสองพรรคใหญ่ที่ยังเป็นหนึ่งในตัวแปรหลักที่สร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า จนนำไปสู่นำไปสู่ปัจจัยลบประการที่สาม คือ การที่สหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ (โดย S&P's) จากระดับ AAA สู่ระดับ AA-Plus (AA+)
ทั้งนี้ แม้ว่าเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2554 เปรียบเทียบกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 แล้ว จะเห็นถึงความเข้มแข็งที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากฝั่งธุรกิจและสถาบันการเงินเอกชนที่เคยเป็นต้นตอของวิกฤตรอบก่อนหน้า แต่ความอ่อนแอในตลาดแรงงาน รวมถึงสถานการณ์ด้านการคลังที่ถดถอยลงมาก ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดกระสุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ท่ามกลางภาวะที่สหรัฐฯ คงไม่สามารถพึ่งพิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้มากเท่าเดิม หลังจากที่ยุโรปและจีนต่างก็เห็นสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน ท้ายที่สุดแล้ว ก็อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพต่อเนื่องไปอีกไม่น้อยกว่า 1 ปีข้างหน้า แม้ว่าอาจไม่ได้ย่ำแย่ลงจนถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบสองก็ตาม นอกจากนี้ ก็ทำให้มีความเป็นไปได้ไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ที่เฟดอาจต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ภายใต้มุมมองดังกล่าว อาจทำให้สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงและชดเชยความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ อาทิ ทองคำ มีแรงหนุนต่อเนื่องไปในระยะปานกลาง เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อาจทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ ตลาดหุ้นอาจปรับขึ้นได้ในระยะสั้น รับกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่น่าจะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจออกมาเพิ่มเติม กระนั้นก็ดี เพื่อหาจังหวะการทำกำไรจากทั้งราคาทองคำและพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นไปมากแล้ว คาดว่าตลาดคงจะติดตามเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯและประเทศแกนหลักของโลก บทสรุปจากการประชุมด้านงบประมาณของสหรัฐฯ (ที่จะมีขึ้นภายในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า) การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2555 รวมถึงความเคลื่อนไหว/มุมมองของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อย่างใกล้ชิด อันย่อมหมายถึงความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ ที่น่าจะยังอยู่ในระดับสูงอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ขณะที่ หากเหตุการณ์พลิกผันไปจากที่คาดการณ์ไว้ข้างต้น ก็คงส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินโลกและสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ให้แตกต่างไปจากทิศทางที่คาดไว้ข้างต้นได้เช่นกัน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น