Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 กันยายน 2554

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ธุรกิจค้าปลีกจีนมุ่งสู่ความยิ่งใหญ่ ... เกื้อหนุนสินค้าไทยเข้าสู่จีนกว้างขวาง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3174)

คะแนนเฉลี่ย

ยอดค้าปลีกของจีนเติบโตด้วยเลขสองหลักตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคม 2554 ยังคงขยายตัวด้วยอัตราร้อยละ 17.2(YoY) ทำให้ธุรกิจดังกล่าวมีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ของจีน(ปี 2553-2558) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน น่าจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อทิศทางการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในจีนและกระตุ้นให้ธุรกิจค้าปลีกในจีนรุกขยายธุรกิจสู่พื้นที่ต่างๆในจีนเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดการบริโภคมากขึ้น ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวก็จะช่วยกระจายสินค้าจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคในจีนได้อย่างทั่วถึง ผลักดันให้สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจค้าปลีกของจีนมีโอกาสเติบโตตามไปด้วยได้ แต่กระนั้นก็ดี สินค้าไทยอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่ดังกล่าวก็น่าจะพิจารณาใช้ช่องทางการค้าผ่านธุรกิจค้าปลีกเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจส่งออกไปยังจีนให้ราบรื่นมากขึ้น รวมถึงพิจารณาช่องทางการค้าด้วยระบบ E-commerce ที่ได้รับความนิยมในจีนเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการติดต่อค้าขายกับจีน ด้วยการประชาสัมพันธ์สินค้าไทยผ่านเครือข่ายเวปไซด์ ที่เป็นผู้นำธุรกิจ E-commerce ของจีน ได้แก่ Alibaba, 360buy, Joyo Amazon และ Dangdang เป็นต้น

การปรับตัวของภาคธุรกิจค้าปลีกของจีนเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ทั้งตลาดเก่าในมณฑลเศรษฐกิจฝั่งตะวันออกของจีนที่ครองส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกถึงร้อยละ 62.2 ของยอดค้าปลีกทั้งหมดของจีน และยังต้องช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่เหลืออีกร้อยละ 37.8 ในมณฑลต่างๆในจีน รวมไปถึงเขตชนบทของแต่ละมณฑลที่จะมีความเป็นเมืองขยายตัวมากขึ้น อาทิ ยูนนาน เทียนสิน หนิงเซี๊ยะ อันฮุย เจียงซี กุ้ยโจว ไหหลำ เจ้อเจียง หูหนาน กว่างสี และเฮ้อหลงเจียง ล้วนน่าจะเป็นอานิสงส์ให้สินค้าของไทยเข้าสู่ห่วงโซ่ธุรกิจค้าปลีกของจีนได้มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่และธุรกิจค้าปลีกของต่างชาติที่ค่อนข้างจะเป็นช่องทางที่เหมาะแก่การติดต่อเพื่อนำสินค้าไทยไปวางขายจำหน่าย ด้วยนัยแสดงถึงว่าผู้ผลิตสินค้ามีอำนาจต่อรองสูงขึ้นในการเลือกร้านค้าปลีกที่ให้ประโยชน์สูงสุดเพื่อที่นำสินค้าไปจำหน่าย ดังนั้น สินค้าไทยที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในจีนย่อมมีโอกาสด้วยเช่นกัน

แม้สินค้าไทยจะมีโอกาสเข้าสู่ตลาดจีนผ่านธุรกิจค้าปลีกในจีน แต่ก็ต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้าของต่างชาติที่ต่างก็มุ่งความสนใจมายังตลาดจีนเช่นเดียวกัน อาทิ การแข่งขันด้านคุณภาพอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะนอกจากสินค้าไทยจะต้องมีคุณภาพที่เหนือกว่าจีนแล้ว ยังต้องต้องสู้กับสินค้าต่างชาติที่มีคุณภาพสูงอยู่แล้ว การแทรกตัวเข้าสู่ห่วงโซ่ธุรกิจค้าปลีกต้องใช้ความมุ่งมั่น ซึ่งเดิมทีผู้ประกอบการค้าปลีกในจีนก็มักจะมีความเชื่อมั่นในเครือข่ายธุรกิจของตนเอง ทำให้การแทรกตัวเข้าเป็นเครือข่ายรายใหม่อาจไม่ง่ายนัก การขาดความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งของพฤติกรรมการบริโภคในจีนที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จะทำให้เสียเปรียบสินค้าท้องถิ่นและสินค้าต่างชาติที่ทำตลาดมายาวนาน รวมถึงข้อจำกัดที่ไม่อาจเลี่ยงได้อันเกิดจากบทบาทของภาครัฐบาลที่มีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดทิศทางของภาคธุรกิจในด้านต่างๆ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐาน คุณภาพ และการกีดกันสินค้าจากต่างประเทศหากส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการบริโภคในประเทศ

ก้าวแรกของนักธุรกิจไทยในการเปิดตลาดไปยังจีนนั้นอาจจะต้องอาศัยช่องทางนำร่องที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศที่จัดโดยหน่วยงานราชการของไทย ที่ต่างกำลังมุ่งให้ความสำคัญต่อภาคการส่งออกไปยังจีนที่เป็นตลาดหลักในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศของไทยในขณะนี้ พร้อมกับศึกษาความต้องการของตลาดจีนอย่างละเอียด รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวของคู่แข่งอย่างใกล้ชิดด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ