Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 มกราคม 2555

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การประชุม 24-25 ม.ค. 2555 … คาดเฟดคงจุดยืนนโยบายการเงิน เพื่อประคองให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3232)

คะแนนเฉลี่ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะยังคงจุดยืนในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากต่อไปในการประชุมรอบแรกของปีในวันที่ 24-25 มกราคม 2555 ทั้งการคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับต่ำจนถึงกลางปี 2556 รวมถึงการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณด้วยการขายพันธบัตรระยะสั้นและซื้อพันธบัตรระยะยาว (Operation Twist) เพื่อลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว และการนำเงินที่ได้รับจากการครบกำหนดของตราสารจำนองที่ถืออยู่ไปลงทุนอีก เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในเส้นทางของการฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เฟดคงจะปรับเปลี่ยนการสื่อสารให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งต่อนโยบาย (Policy Transmission Mechanism)
มองไปในระยะข้างหน้า ปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่มาก (แม้ว่าพัฒนาการของเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะหลัง บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี) โดยยังต้องจับตามาตรการลดภาษีเงินเดือน (Payroll Tax Cut) ที่มีการขยายออกไปชั่วคราว ซึ่งจะครบกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 29 ก.พ.ว่าจะมีการขยายออกไปอีกหรือไม่ อีกทั้งต้องติดตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปี 2555 ที่จะมีผลต่อแผนการใช้จ่ายและการจัดการปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ในอนาคต นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอก จากวิกฤตหนี้ยุโรปที่สถานการณ์ยังคงต้องจับตามอง โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับกรีซ ที่คณะกรรมการ Troika (ECB EU และ IMF) อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อพิจารณาการปล่อยกู้วงเงินช่วยเหลือรอบใหม่ เพื่อให้ทันการครบกำหนดของพันธบัตรกรีซก้อนใหญ่ในเดือน มี.ค. ขณะที่การปรับลดหนี้ของกรีซโดยภาคเอกชน ยังคงมีความไม่แน่นอน และอาจสร้างความผันผวนรอบใหม่ให้แก่ตลาดการเงินได้ รวมถึงอาจซ้ำเติมปัญหาของเศรษฐกิจในประเทศยูโรโซนให้ประสบกับความยากลำบากมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็คงจะส่งผลไปยังเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเกี่ยวเนื่องสูงกับภูมิภาคยุโรปในหลายๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางการค้า และภาคสถาบันการเงิน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า เฟดคงพร้อมจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อดูแลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในเส้นทางของการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ขณะที่ พัฒนาการเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญ ประเด็นการคลังและการเมืองในประเทศ รวมไปถึงสถานการณ์ในยุโรป คงเป็นตัวแปรตัดสินว่าเฟดจะมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเพิ่มเติมหรือไม่ในระยะถัดไป ซึ่งแน่นอนว่า สถานการณ์และการดำเนินนโยบายของเศรษฐกิจหลักในโลก โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงจีน ย่อมจะมีผลเชื่อมโยงกลับมาที่เศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินและการคลังที่เหมาะสมของทางการไทยต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ