Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มกราคม 2555

เศรษฐกิจต่างประเทศ

มาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ของเฟด และวิกฤตหนี้ยูโร...ยังคงเป็นปัจจัยสร้างความผันผวนต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ปี 2555 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3237)

คะแนนเฉลี่ย

2 ประเด็นสำคัญของตลาดการเงินในช่วงนี้ คงจะหนีไม่พ้น การส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ (ซึ่งอาจหมายความถึงมาตรการ QE 3) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) พร้อมๆ กับการสัญญาว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับใกล้ศูนย์นานกว่าเดิมจนถึงช่วงปลายปี 2557 กับสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปที่ยืดเยื้อ และยังคงมีความคลุมเครือในหลายประเด็นที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่วิกฤตจะพัฒนาไปสู่สถานการณ์ที่ลุกลามรุนแรง หากกลไกการแก้ปัญหาไม่เพียงพอและล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความเปราะบางทั้งในสหรัฐฯ และยูโรโซน ทำให้ 2 ประเด็นที่กล่าวข้างต้น ทั้งในเรื่องของสัญญาณการผ่อนคลายรอบใหม่ และการยืนดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานขึ้นของเฟด และวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยืดเยื้อเป็นปีที่ 3 กลายเป็นปัจจัยที่กดดันทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ และเงินยูโรในช่วงจังหวะเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งนั่นก็อาจหมายความถึง สภาวะที่ไม่ราบรื่นของตลาดเงิน-ตลาดทุน และความผันผวนของแนวโน้มสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียตามไปด้วย ทั้งนี้ ท่ามกลางความเปราะบางของสถานการณ์ดังกล่าว เครือธนาคารกสิกรไทยได้ประเมินกรอบค่าเงินบาทในปี 2555 ไว้ที่ 29.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทอาจอ่อนค่าได้มากถึง 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในจังหวะที่นักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยุโรปที่พัฒนาไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้าย ในขณะเดียวกัน เงินบาทก็มีโอกาสจะแข็งค่ากลับมาได้ไกลถึง 29.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ หากความกังวลต่อปัญหาหนี้ยุโรปลดระดับลง พร้อมๆ กับการปรากฎขึ้นของสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ของเฟด ที่น่าจะกระตุ้นให้กระแสความต้องการเสี่ยงกลับมา ท่ามกลางต้นทุนของการกู้ยืมเงินดอลลาร์ฯ ที่อยู่ในระดับต่ำ และสัญญาณเศรษฐกิจเอเชียที่น่าจะแข็งแกร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2555

นอกจากความเสี่ยงของสหรัฐฯ และยุโรปจะมีผลต่อทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังอาจมีผลเชื่อมโยงมาที่เศรษฐกิจไทย และการพิจารณาจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ในระยะข้างหน้า ก็อาจจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจโลก กับโจทย์ทางด้านเสถียรภาพราคา ที่น่าจะได้รับแรงหนุนจากทิศทางราคาพลังงานในประเทศหลังทยอยปรับโครงสร้าง และการเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่คงจะทยอยมีความชัดเจน และมีผลต่อเนื่องมาที่ระบบเศรษฐกิจต่อไปตามลำดับ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ