Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 มีนาคม 2555

เศรษฐกิจต่างประเทศ

[AEC Plus] โครงการนำร่อง RQFII: ห่วงโซ่ใหม่เชื่อมการไหลเวียนเงินสกุลหยวน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3253)

คะแนนเฉลี่ย

โครงการนำร่อง RQFII (Renminbi Qualified Foreign Institutional Investors) ของทางการจีนที่เริ่มประกาศใช้ในเดือนธันวาคม 2554 นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญในด้านนโยบายการเงินระหว่างประเทศของจีน เนื่องจากเป็นการริเริ่มผ่อนคลายให้เงินลงทุนสกุลหยวนสามารถไหลกลับเข้าจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีการควบคุมจากทางการจีน โดยผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการ RQFII จะต้องเป็นบริษัทลูก (Subsidiary) ที่จดทะเบียนในฮ่องกงของสถาบันการเงินสัญชาติจีน โดยที่หลังจากได้รับใบอนุญาต บริษัทจะสามารถระดมทุนสกุลหยวนจากนักลงทุนในฮ่องกงเพื่อนำไปลงทุนในจีนได้ตามโควต้าที่ได้รับจากทางการจีน

แม้ว่าโครงการ RQFII จะยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ทำให้ยังมีการจำกัดทั้งในด้านโควต้าการลงทุน ประเภทของนักลงทุน และหลักทรัพย์ที่ลงทุน แต่การเริ่มบังคับใช้โครงการ RQFII น่าจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญของทางการจีนในการดำเนินยุทธศาสตร์ไปสู่เป้าหมายการใช้เงินหยวนในระดับสากล (RMB Internationalization) โดยในระยะสั้น RQFII น่าจะช่วยตอบสนองความต้องการลงทุนของผู้มีเงินหยวนในมือนอกประเทศจีน จากปริมาณเงินหยวนนอกประเทศที่เพิ่มขึ้นสืบเนื่องจากโครงการชำระค่าสินค้าด้วยเงินสกุลหยวน และโครงการ RQFII ยังน่าจะมีผลในการช่วยเสริมวงจรการหมุนเวียนเงินสกุลหยวนให้สมบูรณ์ขึ้นอีกด้วย ขณะที่ในระยะยาว หากทางการจีนมีการขยายข้อกำหนดของโครงการ RQFII ให้ผ่อนคลายมากขึ้น เช่น ปริมาณเงิน จำนวนผู้รับอนุญาต และรูปแบบการลงทุน RQFII ก็น่าจะเป็นอีกกลไกสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความนิยมในการใช้เงินสกุลหยวนได้ ทั้งนี้ ธุรกิจที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการใช้เงินสกุลหยวน ได้แก่ ธุรกิจที่มีธุรกรรมการค้ากับจีน เช่น ธุรกิจนำเข้า-ส่งออก หรือธุรกิจที่มีแหล่งวัตถุดิบจากจีนและส่งออกสินค้าไปยังจีน เนื่องจากจะได้รับประโยชน์จาก Natural Hedge ในกระแสเงินสดรับเข้าและจ่ายออกด้วยสกุลหยวน และช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ