ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะยังคงจุดยืนในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากต่อไปในการประชุมรอบที่สองของปีในวันที่ 13 มีนาคม 2555 ทั้งการคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ 0-0.25% และให้คำมั่นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำจนถึงกลางปี 2557 ตลอดจนการดำเนินโครงการซื้อพันธบัตรระยะยาวภายใต้ Operation Twist และการซื้อตราสารด้วยเงินที่ได้รับจากการครบกำหนดของตราสารที่เคยลงทุน เพื่อรักษาขนาดงบดุลและกดอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยคาดว่า แถลงการณ์ของเฟดน่าจะมีมุมมองเชิงบวกต่อโมเมนตัมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เฟดน่าจะยังคงมีท่าทีที่ระมัดระวัง ท่ามกลางความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่มาก ซึ่งก็คงทำให้เฟดจะยังคงจุดยืนนโยบายการเงินผ่อนคลายดังกล่าวต่อเนื่องต่อไป ภายใต้มุมมองที่ประเมินว่า ทางการยุโรปน่าจะประคับประคองสถานการณ์ต่างๆ และป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน น่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราวที่กระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยโอกาสที่ราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นแรงน่าจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ภายใต้สมมติฐานที่ว่า การใช้กำลังทางทหารระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลไม่น่าจะเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ภายในปีนี้
ทั้งนี้ เฟดยังคงไม่น่าจะมีการส่งสัญญาณการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หรือ QE3 ในการประชุมครั้งนี้เช่นกัน โดยเฟดคงจะใช้ความพยายามในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณเงินในระบบเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อหรือสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความสับสนให้แก่ตลาด
มองไปในระยะข้างหน้า ยังมีประเด็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะวิกฤตหนี้ในยุโรป ที่หากมีพัฒนาการในเชิงลบกว่าที่คาดไว้ เฟดก็คงจะรอดูมาตรการในฝั่งของยุโรป ตลอดจนการดำเนินการของธนาคารกลางยุโรป ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ หากมองว่าความเสี่ยงในยุโรปอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงภาคธนาคารในสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การปรับตัวสูงของราคาน้ำมัน เป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตาม โดยหากข้อพิพาทระหว่างอิหร่านและอิสราเอลกับชาติตะวันตกบานปลายจนไปสู่การใช้กำลังทางทหารในตะวันออกกลาง ก็คงจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อให้เผชิญกับภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อสูง) ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐฯ ผ่านการพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัวของราคาน้ำมัน ซึ่งภายใต้ภาวะดังกล่าว อาจกดดันให้เฟดจำเป็นต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนหรือหาทางออก (Exit) จากมาตรการผ่อนคลายอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งทุกฝ่ายน่าจะพยายามทุกวิถีทางที่จะใช้วิธีทางการทูตในการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ
สำหรับนโยบายการเงินของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการไทยคงจะให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการทยอยฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ตลอดจนความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อาจเผชิญกับแรงกดดันในระยะข้างหน้า จากราคาพลังงานโลกและการปรับขึ้นของต้นทุนการผลิต พร้อมจับตาสถานการณ์แวดล้อมทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อไป
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น