Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 มีนาคม 2555

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การเลือกตั้งซ่อม 1 เมษาฯ ในพม่า : หนทางสู่การเปิดประเทศ (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2280)

คะแนนเฉลี่ย

วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน 2555 เป็นอีกวันหนึ่งที่ทั่วโลกจะจับตามองประเทศพม่าด้วยความสนใจ เพราะเป็นวันเลือกตั้งซ่อมสมาชิกรัฐสภาของพม่าจำนวน 48 ที่นั่ง เพื่อทดแทนสมาชิกในสภาที่ขึ้นไปดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยในรัฐบาลพม่าชุดปัจจุบัน

การเลือกตั้งในพม่าครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวหนึ่งใน "แผนการสู่ประชาธิปไตยของพม่า 7 ขั้น” ที่ได้เสนอไว้ต่อ สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐของพม่า (State Peace and Development Council: SPDC) เมื่อปี พ.ศ.2546 นอกจากนั้น การที่นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ที่เคยปฎิเสธการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2553 ได้ประกาศตัวลงแข่งขันในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ด้วย ทำให้การเลือกตั้งในประเทศพม่ากลายเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชนจากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในขณะนี้การเมืองของประเทศพม่าเริ่มมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายและย่างก้าวไปสู่ระบบประชาธิปไตยมากขึ้น แต่การเมืองของพม่ายังคงมีความซับซ้อนและเงื่อนปมทางประวัติศาตร์ที่ยากต่อความเข้าใจ รวมไปถึงปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า10 เชื้อชาติ และชนกลุ่มน้อยจำนวนมากที่อาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ตลอดเวลา

แม้ว่าการเลือกตั้งซ่อมของพม่าครั้งนี้อาจจะมีอุปสรรคบ้าง เมื่อสำนักคณะกรรมการการเลือกตั้งของพม่า ประกาศ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2555 ให้เลื่อนกำหนดการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ 3 เขต ที่อยู่ในรัฐคะฉิ่นออกไป แต่การที่รัฐบาลของพลเอกเต็ง เส่ง ได้แสดงความจริงใจในด้วยการปล่อยนักโทษการเมืองเป็นจำนวนมาก พร้อมๆกับการปฎิรูปการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมจะมีส่วนทำให้ประเทศพม่าเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่ประเทศพม่าเองยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากที่สามารถจะนำขึ้นมาพัฒนาประเทศได้ในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปฏิรูปทางการเมืองในพม่านี้ดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นสากล ซึ่งนับเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะปูทางไปสู่การสร้างประชาธิปไตยและการเปิดประเทศของพม่าสู่สังคมโลก เพราะนอกจากวันที่ 1 เมษายน 2555 จะเป็นวันเลือกตั้งซ่อมครั้งประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นวันที่ทางการพม่าได้ประกาศที่จะเริ่มต้นการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนไปสู่ระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่น่าจับตามองอย่างมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการค้าระหว่างไทยกับพม่าในปี 2555 น่าจะยังรักษาระดับอัตราการขยายตัวสูงใกล้เคียงกับที่ผ่านมาได้ ขณะที่การเปิดประตูทางเศรษฐกิจของพม่าน่าจะเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ กับประเทศพม่ามากยิ่งขึ้นในระยะต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ