Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 เมษายน 2555

เศรษฐกิจต่างประเทศ

[AEC Plus] จีนขยายแบนด์เงินหยวน...ผลต่อเงินบาทยังคงจำกัด (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3272)

คะแนนเฉลี่ย

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2555 ธนาคารกลางจีนได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงิน ด้วยการประกาศขยายกรอบการเคลื่อนไหวรายวันของเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยนับจากวันที่ 16 เมษายน 2555 ทางการจีนจะอนุญาตให้เงินหยวนสามารถเคลื่อนไหวในกรอบการซื้อ-ขายที่กว้างขึ้นเป็น +/- ร้อยละ 1.0 จากค่ากลางอ้างอิงเงินหยวนเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ธนาคารกลางจีนกำหนด ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะสะท้อนว่า ทางการจีนมีความเชื่อมั่นในความสามารถที่จะดูแลให้การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงแล้ว ยังนับเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของการปฎิรูประบบการเงินของจีน สอดรับกับการนับถอยหลังเข้าสู่ช่วงเวลาการเปิดเสรีภายใต้บัญชีทุนที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2558 และการผลักดันเงินหยวนให้มีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาค

หากพิจารณาทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงหลังจากมีการเพิ่มกรอบความยืดหยุ่นให้กับเงินหยวนในเดือนพฤษภาคม 2550 (เป็นกรอบ +/-ร้อยละ 0.5 จากอัตราอ้างอิงเงินหยวนรายวัน) พบว่า เงินหยวนไม่เคยชนกรอบด้านแข็งค่า แต่กลับชนกรอบด้านอ่อนค่าทั้งสิ้น 19 ครั้ง โดยในช่วงระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม 2550-13 เมษายน 2555 เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 4.0 โดยทิศทางการแข็งค่าของเงินหยวนในช่วงแรกเริ่มของการเพิ่มความยืดหยุ่นในรอบแรกนั้น มีผลทางจิตวิทยาทำให้สกุลเงินเอเชียขยับแข็งค่าขึ้นก่อนที่จะเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงหลังจากนั้นจากผลของวิกฤตซับไพร์มในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี จากการที่เป้าหมายของการขยายกรอบการเคลื่อนไหวรายวันของเงินหยวนในรอบนี้ คือ การเพิ่มความยืดหยุ่น 2 ด้านให้กับเงินหยวนรับกับโครงสร้างเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง พร้อมๆ กับสถานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจลดน้อยลงในระยะกลางตามการประเมินของ IMF ซึ่งแตกต่างไปจากการดำเนินการในช่วงปี 2550 ที่น่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อปล่อยให้เงินหยวนเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าได้มากขึ้นสะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การเพิ่มความยืดหยุ่นรายวันให้กับเงินหยวนเป็นเท่าตัวในรอบนี้ ไม่น่าจะส่งผลให้สกุลเงินเอเชียและเงินบาทเผชิญแรงกดดันในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทิศทางเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวลง ขณะที่ สถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรป และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งก็เท่ากับว่าขั้นตอนการปฎิรูปค่าเงินหยวนของจีนในครั้งนี้ ไม่น่าที่จะสร้างภาระในการดูแลทิศทางเงินบาทให้กับธปท. เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไปจากสถานการณ์ปกติที่ธปท.ดำเนินการอยู่

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ