การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยอาจเรียนรู้จากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสิงค์โปร์ ที่สามารถพัฒนาประเทศและปรับรูปแบบเศรษฐกิจให้มีศักยภาพในการแข่งขันสูงดังเช่นปัจจุบันได้ โดยการมุ่งพัฒนาองค์ความรู้ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีและบุลคากรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทของเอกชนในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการ ทำให้สิงคโปร์มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนาเชิงพาณิชย์ในภูมิภาคตามแผนที่ตั้งไว้ในอนาคต จากการศึกษาดังกล่าวทำให้ทราบว่า ประเทศไทยยังต้องพัฒนาในเรื่องคุณภาพแรงงานและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและรองรับการเป็น AEC อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจะต้องสร้างแนวทางในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตในรูปแบบของตัวเอง โดยอาจมีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เหมาะสมกับประเทศ เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าเกษตร สุขภาพ การท่องเที่ยว เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มควบคู่ไปกับเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจ SMEs ที่มีส่วนสำคัญต่อภาคธุรกิจของไทย นอกจากนี้ ไทยต้องพัฒนาคุณภาพของแรงงานและนักวิจัยเพื่อรองรับต่อเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะนำมาใช้ในอนาคต ทั้งนี้หากไทยสามารถยกระดับขีดความสามารถในการผลิตได้ ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมต่างชาติ ไม่เพียงแต่ใน AEC แต่รวมถึงประเทศอื่นๆจากทั่วโลกด้วย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น