Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มิถุนายน 2555

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ความเสี่ยงจากยุโรปเพิ่มขึ้น…เฟดยังคงเปิดโอกาสสำหรับการผ่อนคลายรอบใหม่ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3303)

คะแนนเฉลี่ย

ลาดสินทรัพย์เสี่ยงเผชิญแรงเทขายเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่ประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบใหม่ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 19-20 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา แม้จะมีการยอมรับว่า เฟดพร้อมจะดำเนินการเพื่อปกป้องเศรษฐกิจและระบบการเงินของสหรัฐฯ หากสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปเลวร้ายลงก็ตาม

โดยในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 19-20 มิถุนายน 2555 เฟดมีมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed Funds Rate ที่กรอบร้อยละ 0.0-0.25 พร้อมกับระบุย้ำว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ในระดับต่ำเป็นพิเศษจนถึงปลายปี 2557 เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ เฟดยังขยายเวลาของมาตรการ Operation Twist อีก 6 เดือน ไปสิ้นสุดสิ้นปี 2555 จากกำหนดเดิมที่จะหมดวาระลงในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ อย่างไรก็ดี วงเงินสำหรับมาตรการ Operation Twist ครั้งนี้ ลดลงเหลือเพียง 2.67 แสนล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับวงเงินเดิม 4.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ อนึ่ง ในการดำเนินมาตรการ Operation Twist เฟดจะทำการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้นที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวที่มีอายุ 6-30 ปีในวงเงินเดียวกัน (ซึ่งจะไม่มีผลต่อขนาดงบดุลของเฟด) โดยมีวัตถุประสงค์ให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำ เพื่อสนับสนุนสภาวะแวดล้อมทางการเงินให้ผ่อนคลายต่อไป

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้สถานการณ์ที่ยืดเยื้อจากวิกฤตหนี้ยุโรป จะเป็นตัวสะท้อนถึงแรงกดดันและความคาดหวังของตลาดเงิน-ตลาดทุนที่มีต่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบใหม่ของเฟด เพื่อเข้าช่วยลดความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ถึงกระนั้น ประสิทธิผลต่อการพลิกสถานการณ์เศรษฐกิจจากเครื่องมือทางการเงินก็อาจอยู่ในกรอบที่จำกัด เมื่อเทียบกับเม็ดเงินใหม่ที่ต้องใส่เข้าไปเพิ่มเติม ขณะที่ การเพิ่มปริมาณเงินมากขึ้นของเฟด แม้จะยังไม่เพิ่มความเสี่ยงเงินเฟ้อ ณ ขณะนี้ แต่ก็อาจทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งก็จะยิ่งทำให้เฟดเผชิญความยากลำบากในการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบในช่วงเวลานั้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป รวมถึงประเทศชั้นนำอื่นๆ ในเวลานี้ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในการเลือกใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน เพราะแม้สภาวะแวดล้อมทางการเงินที่ผ่อนคลาย อาจจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะถดถอย/ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจ แต่ก็คงต้องยอมรับว่า ประสิทธิผลและเครื่องมือที่จำกัดมากขึ้นของธนาคารกลาง ไม่น่าจะสามารถพลิกสถานการณ์เศรษฐกิจและยุติภาวะวิกฤตหนี้ยุโรปได้ ดังนั้นในท้ายที่สุดแล้ว การผ่อนความคุมเข้ม และเพิ่มความยืดหยุ่นของกรอบเวลาการรักษาวินัยทางการคลังของทางการหลายๆ ประเทศ (ไม่ใช่เพียงแค่สหรัฐฯ) ก็อาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จำเป็นเพื่อแลกกับการลดความเสี่ยงของภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ลง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ