เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2/2555 เติบโตต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยขยายตัวร้อยละ 7.6 (YoY) ชะลอลงจากไตรมาส 1/2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.1 (YoY) เนื่องจากเครื่องชี้เศรษฐกิจจีนหลายด้านทั้งภาคการผลิต การส่งออกรวมไปถึงอุปสงค์ภายในประเทศยังคงบ่งชี้ภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2555 ทำให้ภาพเศรษฐกิจครึ่งแรกของจีนเติบโตร้อยละ 7.8 (YoY) แต่ด้วยปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจต่างๆของทางการจีนที่ทยอยออกมาเพื่อรับมือกับการชะลอตัว ผนวกกับความมีเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อน่าจะเกื้อหนุนให้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินในระยะต่อไปเป็นไปอย่างราบรื่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนดังกล่าวจะส่งผลชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของของปี ซึ่งน่าจะผลักดันเศรษฐกิจจีนในครึ่งหลังเติบโตสูงขึ้นกว่าครึ่งแรก และช่วยให้เศรษฐกิจจีนตลอดปี 2555 นี้รักษาระดับเติบโตประมาณร้อยละ 8.2 ซึ่งแม้ว่ายังคงสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ที่ร้อยละ 7.5 แต่ก็เป็นทิศทางที่ชะลอลงจากร้อยละ 9.2 ในปี 2554 และนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี
การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนติดต่อกัน 2 ไตรมาสในปีนี้ เป็นที่น่าจับตาของทั่วโลก ไม่เพียงจีนจะทวีความสำคัญกับเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนแล้ว จีนเองก็ยังเป็นเครื่องพยุงเศรษฐกิจและการค้าของไทยอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน ในภาพรวมแล้วการค้าระหว่างไทย-จีนช่วง 5 เดือนที่ผ่านมารักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องร้อยละ 8.4 (YoY) แม้ว่าชะลอลงจากร้อยละ 27.6 ในปี 2554 แต่ก็เป็นอัตราที่สูงกว่าตลาดสำคัญอื่นๆ โดยเป็นรองเฉพาะอาเซียน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าอาเซียนและจีนต่างก็เป็นเป็นแกนนำผลักดันการส่งออกของไทยโดยรวมในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2555 กรณีพื้นฐานจะขยายตัวประมาณร้อยละ 15.0 ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของการส่งออกของไทยโดยรวมซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 10 ในกรณีพื้นฐาน ทั้งนี้ สินค้าส่งออกไปจีนที่ขยายตัวค่อนข้างดีในปีนี้ ได้แก่ คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลไม้ ส่วนประกอบอากาศยาน มอเตอร์ และเครื่องจักรกล
โดยสรุป จีนเองแม้มีสัญญาญความอ่อนแรงทางเศรษฐกิจแทรกเข้ามา แต่ในภาพรวมแล้วเศรษฐกิจในปีนี้จะยังรักษาระดับการเติบโตในเกณฑ์สูงได้อยู่ แต่ก็ต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีโดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจภายในประเทศจีนเอง หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการไม่ส่งผลบวกอย่างชัดเจน ก็อาจซ้ำเติมภาคเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังถูกวิกฤตหนี้ในยุโรปคุกคามให้ชะลอลงอีก ในท้ายที่สุดอาจกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปจีนเป็นเครื่องพยุงภาพรวมการค้าของไทยในภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯค่อนข้างอ่อนแรงและสหภาพยุโรปที่ถดถอยหนักมากขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น