Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 กันยายน 2555

เศรษฐกิจต่างประเทศ

[AEC Plus] APEC RUSSIA 2012: TPP และ ASEAN+6 สองขั้วที่ต้องจับตามอง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3346)

คะแนนเฉลี่ย
การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 24 (The 24th APEC Ministerial Meeting) และการประชุมผู้นำ เศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 20 (The 20th APEC Economic Leaders' Meeting) ณ นครวลาดิวอสต๊อก สมาพันธรัฐรัสเซียได้เริ่มเปิดฉากไปแล้วในช่วงสัปดาห์นี้ ภายใต้แนวคิด 'รวมกลุ่มเพื่อเติบโต สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความมั่งคั่ง” (Integrate to Grow, Innovate to Prosper) รัสเซียในฐานะเจ้าภาพจะหยิบยก 4 ประเด็นหลักเพื่อหารือร่วมกับบรรดาสมาชิกอีก 20 เขตเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของประเด็นต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา และประเด็นเพิ่มเติมตามที่รัสเซียเสนอ อันประกอบด้วย การเปิดเสรีการค้าการลงทุน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Trade and investment liberalization, regional economic integration) การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อถือได้ (Reliable supply chains) ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) และการร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรม (Innovative growth)
ท่าทีของนานาประเทศสมาชิกเอเปคในขณะนี้ยังสนับสนุนการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค อันเป็นพันธกิจสำคัญของเอเปค และพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเจ้าภาพรัสเซีย ซึ่งมีความพยายามผลักดันตัวเองให้มีบทบาทในภูมิภาคนี้มากขึ้น ยิ่งเป็นแรงจูงใจให้รัสเซียพร้อมที่จะสนับสนุนกรอบความร่วมมือต่างๆภายใต้เอเปค
ทั้งนี้ ประเทศขนาดเล็ก เช่น ประเทศไทย ต้องยอมรับว่าการก้าวสู่เป้าหมายของเอเปคก็มีความท้าทายที่ยังต้องให้ความระมัดวัง ในส่วนของเขตการค้าเสรีภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) เองก็ที่มีเงื่อนไขหลายด้านที่ประเทศกำลังพัฒนายังไม่พร้อมต่อการเปิดเสรี เช่น ภาคการเกษตร ภาคการบริการ การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในขอบเขตที่เหนือกว่ากรอบ WTO แต่อย่างไรก็ดี เป้าหมายเขตการค้าเสรีของเอเปคก็เป็นเสมือนเป็นแรงผลักดันให้ประเทศขนาดเล็กรวมตัวกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของกลุ่ม และเพื่ออำนาจการต่อรองในเวทีที่มีขนาดใหญ่ดังเช่นเอเปค ไม่ว่าจะเป็นเข้าร่วมกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) หรือ ASEAN+6 ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย ข้อตกลงเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจการค้าของไทย
ในส่วนของ TPP ที่หากเกิดขึ้นจริงและการที่ไทยไม่ได้เป็นสมาชิกในกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากมีความกังวลในประเด็นอ่อนไหวด้านการเปิดเสรีแรงงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทำให้ไทยอาจต้องคิดให้รอบคอบถึงผลที่จะตามมา เนื่องจากมีหลายประเทศในอาเซียนอยู่ในกลุ่มดังกล่าวด้วยเช่นกัน (บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม)

นอกจากการให้ความสำคัญกับ TPP แล้ว ASEAN+ 6 ซึ่งจะกลายเป็นความตกลงภูมิภาคหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ก็เป็นประเด็นที่ไทยจะต้องจับตามอง เพราะจีนซึ่งเป็นแกนนำในการเจรจานับเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย นอกจากนั้น หาก ASEAN+6 ซึ่งมีความชัดเจนในการรวมกลุ่มมากกว่า TPP และ FTAAP นั้นสำเร็จ จะถือว่าเป็นความตกลงเขตการค้าเสรีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก หรือราว 20,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนการค้าถึงร้อยละ 27.3 ของมูลค่าการค้าของโลก (ในปี 2554) การที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของ ASEAN+6 จะเอื้อประโยชน์ให้ไทยอย่างมากในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในตลาดเสรีขนาดใหญ่ ดังนั้น ไทยจึงต้องจับตาความคืบหน้าของทั้ง 2 กรอบนี้ควบคู่ไปกับกรอบเอเปคในประเด็นที่ว่าไทยควรจะก้าวไปทางไหน หรือควรเพิ่มบทบาททางการค้าของไทยกับประเทศอื่นๆที่ไทยมีความตกลงทางการค้าในแต่ละกรอบอย่างไร

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ