Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 กันยายน 2555

เศรษฐกิจต่างประเทศ

มาตรการ QE 3 ไม่จำกัดเวลาของเฟดกดดันต่อดอลลาร์ฯ...แต่แนวโน้มยังขึ้นกับพัฒนาการของวิกฤตหนี้ยุโรป และเศรษฐกิจสหรัฐฯ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3352)

คะแนนเฉลี่ย

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น ผ่านโครงการซื้อสินทรัพย์/หลักทรัพย์รอบใหม่แบบไม่จำกัดเวลา (Open-Ended QE 3) พร้อมกับขยายเวลาการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำเป็นพิเศษให้นานขึ้นกว่าเดิมไปจนถึงช่วงกลางปี 2558 โดยสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินของเฟดในรอบนี้ มีขึ้นหลังจากที่ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในตลาดแรงงาน เริ่มมีจังหวะที่ไม่มั่นคงมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การสร้างสภาวะที่ผ่อนคลายในตลาดการเงินโดยเฉพาะตลาดสินเชื่อจำนองผ่านมาตรการ QE 3 ของเฟดนั้น นับเป็นการผูกโยงเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงินเข้ากับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความแตกต่างไปจากแนวทางแบบเดิมที่มีการกำหนดช่วงเวลา และ/หรือขนาดวงเงินของแต่ละเครื่องมือไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ การกำหนดประเภทตราสาร/หลักทรัพย์ที่เฟดจะเข้าซื้อเป็น Agency MBS แทนที่จะเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็น่าจะเป็นการเพิ่มแรงหนุนทิศทางการฟื้นตัวในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ซึ่งยังไม่สามารถสะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนได้มากนัก

ทั้งนี้ เฟดมีความจำเป็นต้องสื่อสารกับตลาดการเงินในการประชุมรอบถัดๆ ไปว่า การฟื้นตัวที่ดีขึ้นของตลาดแรงงานและภัยคุกคามต่อเสถียรภาพราคาในความหมายของเฟดหมายถึงสถานการณ์แบบใด เพราะนั่น จะมีนัยต่อการส่งสัญญาณผ่อนแรงกระตุ้นจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในระยะข้างหน้า รวมไปถึงสิ่งที่ตลาดจับตาอย่างใกล้ชิด ก็คือ ผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ QE 3 ของเฟด ว่าจะสามารถช่วยให้เฟดบรรลุภารกิจเป้าหมายการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ก่อนที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะย้อนกลับมาเพิ่มข้อจำกัดหรือไม่

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า เฟดน่าจะเผชิญกับทางเลือกนโยบายการเงินที่จำกัดมากขึ้น หลังจากการประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในรอบนี้ ซึ่งก็ย่อมจะทำให้แนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปีข้างหน้า คงจะขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาความท้าทายทางด้านการคลัง หรือความเสี่ยง Fiscal Cliff ของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ