หากพม่ามุ่งมั่นปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะเป็นโอกาสในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ และนานาประเทศ สู่ระดับความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต อันจะเป็นข้อได้เปรียบของพม่าในการต่อยอดทางเศรษฐกิจและสร้างบทบาทของพม่าในเวทีโลกได้สดใสขึ้นด้วย สำหรับผลที่มีต่อประเทศไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับพม่า น่าจะเป็นผลในเชิงบวกต่อไทย จากการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศพม่าและการขยายการส่งออกของพม่า ซึ่งน่าจะเสริมความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ในด้านการขยายความสัมพันธ์การค้าระหว่างพม่ากับสหรัฐฯ ไม่น่าส่งผลกระทบในเชิงการแข่งขันกับการส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากสินค้าที่พม่ามีศักยภาพในการส่งออกเป็นคนละกลุ่มกับสินค้าส่งออกของไทย ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของพม่าจนถึงปี 2558 น่าจะเติบโตได้ค่อนข้างแข็งแกร่งเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ต่อปี โดยได้แรงผลักดันสำคัญจากการขยายการลงทุนต่างชาติในพม่า รวมทั้งการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและลงทุนในประเทศ ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกสินค้าของไทยไปพม่าในปี 2555 น่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 (YoY) หรือมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 94,500 ล้านบาท และน่าจะเติบโตในระดับร้อยละ 15-20 ในระยะข้างหน้า
การส่งออกผ่านช่องทางการค้าชายแดนน่าจะเป็นช่องทางที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจไทยในการขยายตลาดสินค้าสู่พม่า ทั้งจากด่านชายแดนหลักอย่างด่านแม่สอด-เมียวดี ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการขยายการส่งออกของไทยไปพม่า โดยในปี 2555 คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกไม่ต่ำกว่า 37,000 ล้านบาท อีกทั้งในอนาคตไทยยังมีแผนจะเปิดด่านชายแดนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยขยายการค้าระหว่างไทย-พม่าได้มากยิ่งขึ้น ขณะที่การลงทุนในพม่ายังคงต้องจับตาความคืบหน้าการออกกฎหมายลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งยังอยู่ระหว่างทบทวนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเปิดรับการลงทุนของต่างชาติผนวกกับการเปิดตลาดของประเทศผู้บริโภครายใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปให้แก่พม่า จึงนับเป็นโอกาสทางการลงทุนสำหรับธุรกิจส่งออกของไทยที่จะสามารถเข้าไปลงทุนเพื่อใช้พม่าเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ ซึ่งผู้ส่งออกไทยนอกจากจะได้ประโยชน์จากการลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าในระดับที่มากกว่าการส่งออกโดยตรงจากประเทศไทย อย่างไรก็ดี ควรพึงตระหนักประเด็นท้าทายในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ทั้งนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของปฏิรูปซึ่งคงต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างความเชื่อมั่นพอสมควร
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น