โดยสรุป ในการเลือกผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีน จากท่าทีที่ค่อนข้างแน่นอนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการวางตัวผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งผู้นำต่อไป ซึ่งได้แก่ นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และนายหลี่ เค่อ เฉียง รองนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งทำหน้าที่ดูแลนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และสิ่งแวดล้อมในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปลี่ยนผ่านตำแหน่งครั้งนี้น่าจะดำเนินไปอย่างราบรื่นและไม่น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายบริหารเศรษฐกิจของประเทศจีนมากนัก เนื่องจาก ว่าที่ผู้นำทั้งสองเป็นคณะทำงานซึ่งใกล้ชิดกับผู้นำรุ่นปัจจุบัน ซึ่งน่าจะช่วยให้การตัดสินใจด้านนโยบายเศรษฐกิจ มีความต่อเนื่องสอดคล้องกับรัฐบาลชุดก่อน อีกทั้ง จีนมีแผนแม่บทด้านนโยบายเศรษฐกิจซึ่งถูกกำหนดไว้แล้วเป็นแผนระยะกลาง ได้แก่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558) ซึ่งจะต้องได้รับการสานต่อโดยผู้นำรุ่นใหม่ต่อไป โดยนโยบายสำคัญที่จะถูกผลักดันอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มบทบาทการบริโภคและภาคบริการ รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการออกไปลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจจีน และพร้อมกันนั้น ในระยะสั้น ผู้นำรุ่นใหม่เองก็ต้องมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาสานต่อการดูแลเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ล่าสุดเครื่องชี้เศรษฐกิจบางส่วนในเดือนก.ย.และต.ค.2555 เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งด้วยเครื่องมือทางการเงินการคลังที่มีอยู่พร้อม น่าจะเปิดโอกาสให้ผู้นำใหม่มีความยืดหยุ่นในการปรับเพิ่มระดับความเข้มข้นของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการออกมาตรการใหม่ๆ ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกปรากฎสัญญาณอ่อนแอกว่าที่คาด
ส่วนในด้านตลาดเงินและตลาดทุนนั้น ประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ท่าทีทางเศรษฐกิจของผู้นำใหม่ของจีนภายหลังที่ทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. ทั้งในด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะมีผลต่อหลายตัวแปรทางเศรษฐกิจ ทั้งการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน ที่จีนอาจถูกกดดันให้ผ่อนคลายมากขึ้นหากผู้นำใหม่ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะหยิบยกขึ้นมาสร้างแรงกดดันในประเด็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมอีก ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่ เช่น เหล็กและทองแดง ที่อาจมีราคาเพิ่มขึ้นหากผู้นำใหม่ของจีนมีการประกาศเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งยังอาจมีผลกระทบต่อเนื่องยังตัวแปรอื่นๆ ในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกอีกด้วย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น