ในปีนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 21 และการประชุมที่เกี่ยวข้องจะเริ่มเปิดฉากในช่วงต้นสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ผู้เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ผู้นำประเทศอาเซียนและผู้นำประเทศคู่ภาคีของอาเซียนอย่างสหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย ซึ่งหัวข้อหลักในการประชุมครั้งนี้ยังคงเป็นความคืบหน้าของการดำเนินการต่างๆที่มุ่งไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และในโอกาสนี้ ไทยจะใช้เวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเพื่อหารือทวิภาคีกับผู้นำพม่าเกี่ยวกับความคืบหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นที่นานาประเทศต่างจับตามองมากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องของการประกาศเจรจาความตกลงภูมิภาคหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่เป็นการต่อยอดความคิดจาก ASEAN+6 และหากจุดเริ่มของการประกาศจัดตั้ง RCEP นำไปสู่การบรรลุข้อตกลงภายในปี 2558 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้จริง ก็จะเกิดมิติใหม่ของกลุ่มการค้าเสรีที่เชื่อมโยงประเทศที่ไม่เคยเปิดเสรีระหว่างกันมาก่อน เช่นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย โดยมีอาเซียนเป็นแกนของความร่วมมือ ซึ่งย่อมเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งไทย ทั้งนี้ อาจต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ส่งผลต่อความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างมากในระยะต่อไป
จะเห็นได้ว่า พัฒนาการของความร่วมมือภายในภูมิภาคอาเซียนเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ดังสะท้อนให้เห็นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่โดดเด่น โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเฉลี่ยอยู่ที่ราวร้อยละ 5-6 ส่วนมูลค่าการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาคอาเซียน (Intra-ASEAN Trade) ในปี 2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปีก่อน และการลงทุนจากต่างชาติในอาเซียนก็ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ความสำคัญของการยกระดับการพึ่งพากันภายในภูมิภาคให้มีความเข้มแข็ง คือเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคและลดความเสี่ยงจากความผันผวนภายนอกภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น