Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 ธันวาคม 2555

เศรษฐกิจต่างประเทศ

[AEC Plus] การเปลี่ยนผู้นำญี่ปุ่น: แม้บรรลุเป้าหมายฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ยากจะแก้โจทย์เชิงโครงสร้างระยะยาว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3391)

คะแนนเฉลี่ย

แม้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา จะออกมาสอดคล้องกับกระแสการคาดการณ์ของตลาด แต่คะแนนเสียงที่ทิ้งห่างของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยนายชินโซ อาเบะ เหนือพรรคประชาธิปไตย (DPJ) ของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ก็เป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า การเปลี่ยนผ่านผู้นำของญี่ปุ่นในช่วงปลายปี 2555 นี้ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของแนวนโยบายเศรษฐกิจในปี 2556 ที่เน้นการกระตุ้นทั้งจากมิติการเงินและการคลังมากขึ้น โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเผชิญแรงกดดันทางการเมืองให้ดำเนินการในเชิงรุกมากขึ้นในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน หลังมีการเปลี่ยนโฉมหน้าของรัฐบาลที่มุ่งเน้นเป้าหมายชัดเจนในการฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นขึ้นจากภาวะถดถอยและแก้ไขปัญหาเงินฝืดที่เรื้อรังยาวนาน ขณะที่ ชัยชนะอย่างท่วมท้นเกิน 2 ใน 3 ของที่นั่งทั้งหมดของพรรค LDP ก็น่าจะทำให้รัฐบาลใหม่ของนายอาเบะ สามารถผลักดันมาตรการทางการคลังที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้ราบรื่นมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จุดยืนนโยบายเศรษฐกิจเชิงผ่อนคลายของญี่ปุ่นที่น่าจะมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 1/2556 แม้อาจจะเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลของนายอาเบะบรรลุเป้าหมายระยะสั้นในการดึงเศรษฐกิจขึ้นจากภาวะถดถอย แต่ก็ไม่น่าจะลบล้างผลด้านลบจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากจะเปลี่ยนผ่านไปได้ในระยะเวลาอันสั้น ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2556 อาจเติบโตในกรอบร้อยละ 0.2-1.2 (กรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 0.7) ซึ่งชะลอลงกว่าที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 1.7 ในปี 2555

โดยแม้ว่าภาคการส่งออกของญี่ปุ่นอาจได้รับอานิสงส์จากเงินเยนที่น่าจะได้รับแรงกดดันภายใต้การดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายอย่างมากของ BOJ แต่โมเมนตัมของการฟื้นตัวของภาคการส่งออกก็ยังคงขึ้นอยู่กับเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่น่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าที่จะก้าวกระโดด แต่กระนั้น จังหวะที่เงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าจากนโยบายของ BOJ ในช่วงปีข้างหน้า ก็อาจเปิดโอกาสสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตของผู้ประกอบการไทยที่อาจต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนจากหลายด้านพร้อมๆ กัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ