สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว เป็นประเทศล่าสุดในอาเซียนที่กำลังก้าวเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO (World Trade Organization) อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ช่วยเติมเต็มบทบาทอาเซียนสู่ระบบการค้าสากล ทั้งยังเป็นก้าวสำคัญของ สปป.ลาว ในการปรับเปลี่ยนนโยบายและโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกับกรอบปฏิบัติทางการค้าที่เท่าเทียมกันของ WTO อันจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจต่างชาติที่สนใจทำธุรกิจทั้งการค้าและการลงทุนกับ สปป.ลาว ในระยะข้างหน้า
ข้อผูกพันการเปิดตลาดที่สำคัญของ สปป.ลาว ได้แก่ การปรับโครงสร้างภาษีสินค้านำเข้า (Bound Rate) โดยผูกพันอัตราภาษีนำเข้าทุกประเภทเฉลี่ยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 18.8 การเปิดตลาดสินค้าบริการในกลุ่มสาขาที่กำหนด 10 สาขา (79 สาขาย่อย) เอื้อต่อธุรกิจบริการของต่างชาติที่จะเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยมีแต้มต่อทางธุรกิจภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียนที่จะรวมตัวกันเป็น AEC ในปี 2558 และกรอบความตกลง RCEP ที่ สปป.ลาว เองก็มีข้อผูกพันในการเปิดเสรีที่ครอบคลุมในระดับกว้างและลึกกว่ากรอบ WTO ดังนั้น ไทยอาจได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดโดยตรงของ สปป.ลาว ไม่มากนัก แต่อีกนัยหนึ่ง ไทยอาจได้อานิสงส์โดยอ้อม จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน สปป.ลาว ที่คึกคักมากขึ้น
การติดต่อค้าขายและเข้ามาลงทุนของต่างประเทศกับ สปป.ลาว ส่วนใหญ่จึงอาจต้องอาศัยทางผ่านจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย เนื่องจาก สปป.ลาว ไม่มีพรมแดนติดทะเล โลจิสติกส์ไทยจึงได้ประโชยช์ในการเป็นทางผ่านสินค้าและการลงทุนที่ขยายตัวขึ้นของ สปป.ลาว นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของไทยก็เตรียมรับโอกาส ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ที่น่าจะรักษาระดับการเติบโตในเกณฑ์สูงได้ต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยที่ได้รับการตอบรับอย่างดี รวมไปถึงสินค้าขั้นกลางอันมีโอกาสเติบโตรองรับการลงทุนใหม่ๆ รวมถึงการขยายตลาดส่งออกสินค้าของ สปป.ลาว ที่น่าจะมีเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี การลงทุนจากต่างชาติที่เข้าสู่ สปป.ลาว มากขึ้นในระยะข้างหน้าจากการเปิดตลาดของ สปป.ลาว ทำให้การแข่งด้านลงทุนใน สปป.ลาว ทวีความเข้มข้นมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเวียดนามและจีนจะยังคงเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น