ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของจีนประจักษ์ชัดอีกครั้ง ภายหลังจากที่จีนได้แซงหน้าเยอรมนีขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกมาตั้งแต่ปี 2552 และล่าสุดจีนได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการค้าโลกด้วยมูลค่าการค้ารวม 3.87 ล้านล้านดอลลาร์ฯ แซงหน้าสหรัฐฯที่มีมูลค่าการค้ารวม 3.82 ล้านล้านดอลลาร์ฯ กอปรกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวก็ช่วยขับเคลื่อนการผลิตและส่งออกของจีนทวีความร้อนแรงมากขึ้นจากแรงหนุนทั้งภายในประเทศและภาคต่างประเทศ ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจจีนในปี 2555 เติบโตอ่อนแรงสุดในรอบกว่าทศวรรษด้วยอัตราร้อยละ 7.8 โดยได้รับปัจจัยผลักดันจากความมุ่งมั่นของทางการจีนในการสนับสนุนการบริโภคในประเทศผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งช่วยเสริมแรงขับเคลื่อนภาคธุรกิจและการผลิตในประเทศต่อเนื่องมาถึงในช่วงต้นปี 2556
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจจีนในปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณความสดใสจากหลายเครื่องชี้ในเดือนมกราคมปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งปัจจัยจากภาคต่างประเทศก็ออกมาดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ สะท้อนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศคึกคักมากขึ้นเน้นย้ำการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนปรับตัวแข็งแกร่งในระยะข้างหน้า แต่โจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ตามมาพร้อมกับการขยายกำลังการผลิต รวมถึงการเติบโตด้านการบริโภคโดยเฉพาะการใช้รถยนต์ และการขยายตัวของความเป็นเมืองในพื้นที่ต่างๆ เริ่มกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรในเมืองเศรษฐกิจของจีนทั้งปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ เพิ่มความท้าทายต่อนโยบายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนฉบับที่ 12 และนโยบายของว่าที่ผู้นำคนใหม่ นายสี จิ้นผิง (ว่าที่ประธานาธิบดี) และ นายหลี่ เค่อเฉียง (ว่าที่นายกรัฐมตรี) ที่จะเข้ามาสานต่อในเดือนมีนาคมนี้ ที่เน้นนโยบายกระจายความเป็นเมืองและยกระดับการเพิ่มรายได้ต่อหัวสูงขึ้น 2 เท่าตัวภายในปี 2563 (เมื่อเทียบกับปี 2553 ที่ผ่านมา)
โดยการเติบโตอย่างยั่งยืนของจีนนั้น นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วยังต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ซึ่งทางการจีนเพิ่มความเข้มข้นในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นปี 2556 เนื่องจากนครปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้มีมลภาวะในอากาศระดับสูงตามการขยายตัวทางการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมรายล้อมและการเติบโตตามพื้นที่ความเป็นเมือง ซึ่งปัจจุบันสูงเกินกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ที่ 2.5 PM สถานการณ์ดังกล่าวผลักดันให้ทางการจีนเริ่มแก้ไขปัญหาเข้มข้นมากขึ้นด้วยมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้า อาทิ การจำกัดปริมาณรถยนต์ที่ปล่อยมลภาวะ หรือการหยุดการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม
ด้วยแนวทางคุมเข้มด้านสิ่งแวดล้อมของทางการจีน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการจีนมีความพยายามแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อก้าวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งหลายมาตรการเน้นการใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมเข้มข้นตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภค ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังจีนอาจต้องติดตามนโยบายการผลิตตลอดจนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของจีน และควรปรับกระบวนการผลิตให้เป็นไปในทางที่สอดคล้องกับการปรับปรุงนโยบายของจีนที่เน้นคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมถึงมาตรฐานอุตสาหกรรม อาทิ การใช้โลโก้ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นรูปแบบสากลและรูปแบบเฉพาะของจีน เพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์การบริโภคและการผลิตของจีนในระยะข้างหน้า ในขณะเดียวกัน การปรับตัวของผู้ประกอบการไทยดังกล่าวก็จะยังเอื้อประโยชน์ในการเข้าสู่ตลาดอื่นๆได้ด้วย เนื่องจากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ตลาดอื่นๆทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญมากขึ้นด้วยเช่นกัน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น