ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจกัมพูชาปี 2556 จะยังคงมีแรงส่งให้เติบโตต่อเนื่องในระดับร้อยละ 7 เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนหลักมีแนวโน้มเติบโตดังนี้
- การลงทุนจากต่างประเทศที่จะยังคงไหลเข้ามายังกัมพูชาจากการเปิดประเทศรับการลงทุนและการทยอยเปิดเสรีภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) รวมทั้งความพยายามในการปฏิรูปกฎหมายการลงทุนให้โปร่งใส ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น
- การส่งออกน่าจะยังขยายตัวสูง โดยมีปัจจัยหนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่ใช้กัมพูชาเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงการขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับคู่ค้ามากขึ้น ทั้งนี้แม้ว่าในปี 2555 กัมพูชาเผชิญภาวะขาดดุลทางการค้าราว 2.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่การนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้ารองรับภาคการผลิต เช่น วัตถุดิบการผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ เครื่องจักรหนัก น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง ยา รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตและเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการลงทุน และส่งผลให้เกิดการจ้างงานต่อไป นอกจากนี้ ไทยก็สามารถขยายการส่งออกผ่านการค้าชายแดนไปยังกัมพูชาเพื่อตอบสนองกำลังซื้อของชาวกัมพูชาที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับโอกาสธุรกิจไทยในกัมพูชาอาจอาศัยความได้เปรียบเรื่องการใช้ทรัพยากร และค่าจ้างแรงงานรวมทั้งสิทธิ GSP ที่กัมพูชายังคงได้รับ จึงเป็นโอกาสในการย้ายฐานการผลิตไปยังกัมพูชาสำหรับธุรกิจที่มีความพร้อม โดยธุรกิจที่น่าสนใจในการขยายการลงทุนในกัมพูชา อาทิ การแปรรูปสินค้าเกษตร ธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้า และโรงสีข้าว นอกจากนี้ ไทยมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านธุรกิจบริการ จึงเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจความงาม เครื่องสำอาง การจัดดอกไม้ สำหรับปัจจัยพึงระวัง อุตสาหกรรมที่ไปลงทุนในกัมพูชาเพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานต้นทุนต่ำอาจต้องระวังเรื่องต้นทุนแฝง เนื่องจากแรงงานกัมพูชายังขาดทักษะฝีมือ นอกจากนี้ การลงทุนควรลงทุนในพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน เช่นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาซับซ้อนในการดำเนินธุรกิจ เช่น ขั้นตอนการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น สาธารณูปโภคที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรศึกษาและให้ความสำคัญ เช่น โดยทั่วไปผู้บริโภคกัมพูชาค่อนข้างอ่อนไหวกับราคา จึงควรพึงระวังเรื่องการกำหนดราคา การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภค
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น