Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 มีนาคม 2556

เศรษฐกิจต่างประเทศ

[AEC Plus]เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ดีเกินคาดในปี ’55 ตอกย้ำศักยภาพการเป็นจุดหมายการลงทุนใหม่ที่น่าสนใจ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2334)

คะแนนเฉลี่ย

- การเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปี 2555 ถือว่าเหนือความคาดหมาย โดยอัตราการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 4/2555 สูงถึงร้อยละ 6.8 ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปีเติบโตถึงร้อยละ 6.6 ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลฟิลิปปินส์วางเอาไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 5-6 ซึ่งแรงหนุนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจได้แก่ 1) การบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น 2)การขยายตัวของโครงการก่อสร้างภาครัฐ และ3)การฟื้นตัวของภาคการส่งออก

- การบริโภคที่เพิ่มขึ้นของชาวฟิลิปปินส์มาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคบริการ โดยเฉพาะการรับจ้างบริหารระบบธุรกิจหรือ Business Process Outsourcing (BPO) เช่น บริการ Call Center เป็นต้น อันเป็นผลพลอยได้จากจุดแข็งของฟิลิปปินส์ในด้านศักยภาพของแรงงานที่มีการศึกษาดีและสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ขณะที่ค่าแรงถูกกว่าประเทศตะวันตก

- การขยายตัวของโครงการก่อสร้างภาครัฐ นโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และสาธารณสุขของรัฐบาลทำให้การใช้จ่ายภาครัฐของฟิลิปปินส์ในปี 2555 ขยายตัวถึงร้อยละ 11.8 นับเป็นแรงหนุนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2556 รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังคงดำเนินนโยบายเช่นเดิม โดยจัดตั้งงบประมาณแผ่นดินเพิ่มขึ้นจาก 1.816 ล้านล้านเปโซฟิลิปปินส์ในปีที่แล้วเป็น 2.006 ล้านล้านเปโซฟิลิปปินส์ เป็นการเพิ่มงบประมาณในส่วนของการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและการบริการสังคม อาทิ การศึกษา และสาธารณสุข รวมทั้ง โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของฟิลิปปินส์ภายใต้โครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP)[1] ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาประเทศของฟิลิปปินส์ ปี 2554-2559 (Philippine Development Plan 2011-2016)

- การฟื้นตัวของภาคการส่งออก แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ของฟิลิปปินส์ในปี 2555 จะลดลงเนื่องจากความต้องการสินค้าที่น้อยลงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการแข็งค่าของเปโซฟิลิปปินส์ แต่การส่งออกในภาพรวมยังขยายตัวจากปี 2554 ถึงร้อยละ 7.6 โดยได้อานิสงส์จากการส่งออกสินค้าประเภทผักและผลไม้เมืองร้อน สินค้าหมวดอาหาร เฟอร์นิเจอร์ไม้ และน้ำมันปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกหลักของฟิลิปปินส์ยังคงเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน

ถึงแม้ว่าอัตราว่างงานในฟิลิปปินส์ยังเป็นปัญหาเรื้อรัง (ร้อยละ 6.8) แต่ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ ส่งเสริมให้ประเทศฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีความน่าสนใจในการลงทุนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจไทย ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีความโดดเด่นได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สำหรับภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ทั้งปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินไว้ที่กรอบการขยายตัวที่ร้อยละ 6.3-6.6


[1] โครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership) เป็นโครงการที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการสร้าง ปรับปรุงพัฒนา บริหารจัดการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการขั้นพื้นฐานและบริการที่เกี่ยวข้องอื่นๆให้แก่ประชาชน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ