Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 มิถุนายน 2556

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การถอยมาตรการ QE ของเฟด...ปัจจัยหลักยังขึ้นกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3436)

คะแนนเฉลี่ย

แม้ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 18-19 มิ.ย. 2556 ออกมาสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด โดยเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบร้อยละ 0.00-0.25 และวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ไว้ที่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนตามเดิม อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผิดจากที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ ก็คือ ถ้อยแถลงหลังการประชุมจากนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด สะท้อนถึงช่วงเวลาที่ชัดเจนของจุดเริ่มชะลอการเข้าซื้อพันธบัตรภายใต้มาตรการ QE ในช่วงปลายปี 2556 นี้ และจุดสิ้นสุดของมาตรการ QE ภายในช่วงกลางปี 2557 แต่กระนั้น เฟดก็ยังคงกล่าวย้ำว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds จะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ จะปรับตัวลงไปที่ร้อยละ 6.5 หรือต่ำกว่า ขณะที่ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 2.5 อย่างไรก็ดี เฟดยังคงย้ำว่า การชะลอซื้อพันธบัตรไม่ใช่การส่งสัญญาณคุมเข้ม และอาจมีการปรับเปลี่ยนแนวทางสำหรับมาตรการ QE ได้ในระยะข้างหน้า

มองไปข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดแนวทางการดำเนินการของเฟด ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาสอดคล้อง และ/หรือดีกว่าที่เฟดได้ประเมินไว้แล้ว ก็คาดว่า เฟดน่าจะเดินหน้าชะลอมาตรการ QE ตามกรอบเวลาที่วางไว้ในการประชุมรอบนี้ แต่หากสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความอ่อนแอ เฟดก็คงต้องปรับแผนการถอยมาตรการ QE ให้มีความยืดหยุ่น ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็น่าจะยังคงเป็นไปอย่างผันผวน

ซึ่งสำหรับหลายๆ ประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยแล้ว โจทย์ที่ต้องเตรียมรับมือในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ก็คือ ทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระบวนการถอย QE ของเฟดดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง) รวมถึงสภาพแวดล้อมทางการเงินที่คงจะทยอยเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่า ระดับความเพียงพอของสภาพคล่องในระบบการเงินไทย จะยังไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลมากนักในช่วงใกล้ๆ นี้ก็ตาม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ