Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 มิถุนายน 2556

เศรษฐกิจต่างประเทศ

[AEC Plus] การลดอุดหนุนราคาน้ำมันของอินโดนีเซีย:ความท้าทายของรัฐบาลอินโดนีเซียด้านความมั่นคงพลังงาน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2379)

คะแนนเฉลี่ย

รัฐบาลอินโดนีเซียอนุมัติแผนชดเชยรายได้ให้กับประชากรรากหญ้าของประเทศภายหลังแผนยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมัน ในการอภิปรายแก้ไขร่างงบประมาณแผ่นดินที่มีขึ้นในวันที่ 17 มิ.ย. 2556 ซึ่งเปิดทางให้รัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมันที่ได้รับการอุดหนุนราคา โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันเสาร์ที่ 22 มิ.ย. 2556 ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาแรงกดดันที่มีต่องบประมาณภาครัฐ

ในปัจจุบัน สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของอินโดนีเซีย มีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการใช้พลังงานประเภทอื่น เนื่องจากการอุดหนุนราคาน้ำมันและไฟฟ้าที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2548 ด้วยสาเหตุจากทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และปริมาณการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้สกุลเงินรูเปียห์มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง หากรัฐบาลยังคงรักษามาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันและไฟฟ้าที่กระตุ้นการบริโภคและนำเข้าน้ำมัน

สัดส่วนการบริโภคพลังงานของอินโดนีเซียในปี 2554 ที่ผ่านมา ยังคงเน้นการบริโภคจากน้ำมันเชื้อเพลิงถึงกว่าร้อยละ 48.4 จากแนวโน้มการปรับขึ้นราคาน้ำมันส่งผลให้ทิศทางการบริโภคพลังงานของอินโดนีเซียอาจจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่เน้นพลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น รัฐบาลอินโดนีเซียได้เล็งเห็นความสำคัญของพลังงานทดแทน โดยตั้งเป้าความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ (National Energy Security) ภายในปี 2568 ให้มีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในอัตราส่วนรวมร้อยละ 17

นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้เน้นการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านพลังงานมากที่สุดในแผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติอินโดนีเซียปี 2554 – 2568 จึงยิ่งตอกย้ำนโยบายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้เป็นรูปธรรม

รัฐบาลอินโดนีเซียออกมาตรการหลายด้านในการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากการพึ่งพาน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่สามารถทดแทนได้ มาเป็นพลังงานทางเลือก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีนโยบายดังกล่าวข้างต้นออกมา แต่การบริโภคพลังงานทางเลือกของอินโดนีเซียยังคงมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย โดยประชาชนส่วนใหญ่ยังคงใช้น้ำมันที่ได้รับการอุดหนุนเป็นหลักและมีสัดส่วนการบริโภคน้ำมันดังกล่าวเพิ่มขึ้น ส่วนการใช้แก๊สธรรมชาติ LNG นั้น มีปริมาณการขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในทางปฏิบัติแล้ว โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการให้บริการ LNG ยังมีขีดจำกัด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเล็งเห็นว่าแนวทางการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของอินโดนีเซียในระยะข้างหน้านั้น ยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายการดำเนินงานของรัฐบาลที่ต้องสร้างเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจโดยรวม โจทย์สำคัญที่รอคอยรัฐบาลอินโดนีเซีย นอกเหนือจากการลดทอนการอุดหนุนราคาน้ำมันแล้ว ยังมีประเด็นหลักที่ควรติดตาม ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการยอมรับการใช้พลังงานทางเลือก และ การส่งเสริมศักยภาพในการกลั่นน้ำมันพลังงานทางเลือกจากพืชเศรษฐกิจ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ