เงินรูปีที่อ่อนค่าลงแรงที่สุดในบรรดาสกุลเงินทั่วโลก และยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่ใกล้เคียงระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 68.845 รูปี/ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นกระจกสะท้อนความเปราะบางของพื้นฐานทางเศรษฐกิจอินเดีย ที่ถูกตอกย้ำมากขึ้นจากระลอกเงินทุนไหลออกจากความกังวลต่อการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (QE Tappering)
ประเด็นที่ต้องจับตาต่อไปคือ ทิศทางนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของธนาคารกลางอินเดียภายใต้การนำของนาย Raghuram Rajan ว่าจะให้น้ำหนักนโยบายในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังเช่นที่ผ่านมา หรือจะหันมาเน้นที่การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูปีเป็นสำคัญ ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โจทย์ด้านเสถียรภาพของเงินรูปี เป็นสิ่งจำเป็นที่ทางการอินเดียคงต้องเร่งแก้ไขเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเสถียรภาพเงินรูปีและเศรษฐกิจอินเดีย แต่ในระยะยาว การแก้ไขสถานะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลการคลัง เป็นโจทย์ใหญ่ที่มีความจำเป็นต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
สำหรับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินรูปีของอินเดียอาจส่งผลกดดันการส่งออกของไทยไปอินเดียระดับหนึ่ง โดยอาจเข้าสู่การหดตัวอย่างน้อยร้อยละ 1.5-4.0 ในปี 2556 หรืออาจส่งผลให้มูลค่าส่งออกของไทยไปอินเดียอยู่ในกรอบ 5,250-5,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น