สำหรับการประชุมรอบที่สองในปี 2557 ของเฟดในวันที่ 18-19 มีนาคมนี้ คาดว่าตลาดคงจะยังพุ่งความสนใจไปที่การปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯได้มีมติปรับลดการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในการประชุมเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา รวมแล้วเป็นจำนวน 20 พันล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ แม้ว่าพัฒนาการของตลาดแรงงานในช่วง 2-3 เดือนนี้จะให้ภาพที่อ่อนแอลง จากแรงกดดันสภาวะอากาศที่เลวร้ายในสหรัฐฯ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าคณะกรรมการฯ น่าจะมีมติให้ปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงอีก 10 พันล้านดอลลาร์ฯ จาก 65 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน เหลือ 55 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน ท่ามกลางมุมมองต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังน่าจะมีความต่อเนื่อง
สำหรับผลต่อประเทศไทย ด้วยเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่อยู่ในระดับที่ดีอยู่ คงช่วยลดผลกระทบทางลบจากการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องของเฟดได้ในระดับหนึ่ง โดยความเสี่ยงต่อการไหลออกอย่างฉับพลันของเงินทุนจากประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะเสถียรภาพภายนอกประเทศ (External Balance) ของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ด้วยขนาดการขาดดุลที่ไม่มาก (ประมาณ 0.8% ของ GDP) จึงไม่น่าที่จะสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากนัก นอกจากนี้ แหล่งเงินทุนหลักของธุรกิจและทางการไทยยังคงมาจากการออมในประเทศเป็นหลัก ก็น่าจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟดได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าความผันผวนในตลาดการเงินอาจจะปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหากนักลงทุนต่างชาติมีการปรับลดการถือครองตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง หรือลดความสนใจในตลาดตราสารหนี้ไทยลง ซึ่งเป็นโจทย์ที่หลายฝ่ายคงต้องเตรียมพร้อมตั้งรับ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น