Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กันยายน 2557

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจญี่ปุ่นปี’57 ประคองการเติบโต...ส่งออกไทยไปญี่ปุ่นลุ้นภาพทั้งปีปรับตัวแดนบวก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2531)

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจญี่ปุ่นล่าสุดในไตรมาส 2/2557 หดตัวตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ที่ร้อยละ 6.8 (Annualized, SA) จากที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 (Annualized, SA) ในไตรมาส 1/2557 โดยมีปัจจัยหลักจากการขึ้นภาษีการบริโภคที่ส่งผลให้ผู้บริโภคเร่งการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าก่อนการปรับขึ้นอัตราภาษี และทำให้การใช้จ่ายในไตรมาสสองทรุดตัวลงอย่างมาก สำหรับในช่วงที่เหลือของปียังคงต้องจับตาการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การบริโภคในประเทศ และแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าจะช่วยประคองเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2557 ให้ขยายตัวได้ราวร้อยละ 1.4 (กรอบประมาณการ ร้อยละ 1.0 ถึง 1.7 )

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในไตรมาสแรกเติบโตร้อยละ 2.0 (YoY) หากแต่แรงฉุดในไตรมาส 2/2557 ที่หดตัวร้อยละ 4.9 (YoY) เป็นตัวฉุดให้การส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในครึ่งปีแรกหดตัวลงร้อยละ 1.5 (YoY) โดยการส่งออกในครึ่งปีหลังยังต้องจับตาทิศทางการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศและทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของญี่ปุ่น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2557 นี้อาจเติบโตที่ร้อยละ 0.5 (กรอบประมาณการหดตัวร้อยละ 1 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.5) มูลค่าส่งออกประมาณ 22,000 –22,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.26 (YoY) ของการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคม

สำหรับสินค้าส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นที่มีทิศทางเติบโต ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์การฟื้นตัวของภาคการผลิตญี่ปุ่น ในขณะที่สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปยังคงต้องจับตาการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ โดยสินค้ากลุ่มไก่แปรรูป และอาหารทะเลแช่แข็งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยไก่สดแช่เย็น/แข็งมีโอกาสการทำตลาดจากการประกาศยกเลิกการห้ามการนำเข้า และปัญหาความปลอดภัยด้านอาหารของสินค้าอาหารนำเข้าจากจีน ที่ญี่ปุ่น ได้หันมาหาแหล่งนำเข้าจากแหล่งอื่นทดแทน

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยยังมีประเด็นที่ควรจับตาและเตรียมการรับมือเพราะอาจมีผลต่อคำสั่งซื้อสินค้าจากญี่ปุ่นในระยะต่อไป อันได้แก่เส้นทางการฟื้นตัวของการบริโภคของญี่ปุ่น เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญทั้งจีนและสหรัฐฯ ประเด็นข้อพิพาทและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจมีผลต่อการค้าและการลงทุนของญี่ปุ่น ตลอดจนการปรับตัวของตลาดการเงินโลกจากผลของการสิ้นสุดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอย่างมาก (QE) ของสหรัฐฯในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งในทางอ้อมอาจมีผลต่อทิศทางค่าเงินเยนและค่าเงินบาท

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ