Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 ตุลาคม 2557

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ศักราชใหม่ ICT เมียนมาร์ สะท้อนความพยายามของรัฐบาลเมียนมาร์ในการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคใหม่ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2549)

คะแนนเฉลี่ย

หลังจากที่เมียนมาร์กลับมาเปิดตัวสู่ประชาคมโลกอีกครั้ง รัฐบาลเมียนมาร์จึงเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความทัดเทียมกับนานาประเทศผ่านการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในกิจการโทรคมนาคม โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 เมียนมาร์ได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยกว่าร้อยละ 60 ของเม็ดเงินลงทุนหรือราว 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯนั้น หลั่งไหล่เข้าสู่ภาคโทรคมนาคม ทั้งนี้ การเร่งพัฒนากิจการโทรคมนาคมถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลเมียนมาร์ในการปรับปรุงภาพลักษณ์ของประเทศให้มีความทันสมัยมากขึ้น

เนื่องจากในอดีต กิจการโทรคมนาคมในเมียนมาร์นั้นผูกขาดโดยรัฐบาลในการให้บริการสื่อสาร ทั้งโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ผ่านการให้บริการจากบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมและไปรษณีย์แห่งเมียนมาร์ (Myanmar Posts and Telecommunications: MPT) จึงทำให้อัตราการเข้าถึงบริการโทรศัพท์ (Tele-density Ratio) คิดเป็นเพียงร้อยละ 14 ของประชากรทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2556 รัฐบาลเมียนมาร์ได้ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนจากกาตาร์และนอร์เวย์ในการพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์มือถือภายในประเทศ อีกทั้ง MPT ก็มีข้อตกลงร่วมทุนกับบริษัทเอกชนญี่ปุ่นเพื่อหวังจะยกระดับประสิทธิภาพของการให้บริการโทรศัพท์มือถือและพร้อมรับการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่าในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหล่เข้ามาในเมียนมาร์จะเป็นเงินลงทุนด้านกิจการโทรคมนาคมประมาณ 1.8-2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ การเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในกิจการโทรคมนาคมของรัฐบาลเมียนมาร์ในครั้งนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกด้วย โดยในระยะเริ่มต้น โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยน่าจะเป็น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงข่ายระบบโทรคมนาคม และ ธุรกิจการขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับการสื่อสาร ขณะที่ในระยะยาว หลังจากกิจการโทรคมนาคมในเมียนมาร์มีการพัฒนาที่มากขึ้น ธุรกิจด้านดิจิตอลคอนเทนท์ และธุรกิจการให้บริการในรูปแบบประยุกต์ จะได้รับอานิสงส์และเติบโตตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการเข้าไปเจาะตลาดที่เพิ่งเปิดใหม่ของเมียนมาร์ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายจากหลากหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการโทรคมนาคมในเมียนมาร์ เช่น การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน รายได้ประชากรที่อยู่ในระดับต่ำ และกฎหมายการลงทุนที่ยังไม่มีความชัดเจน เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ