Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 กุมภาพันธ์ 2558

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนปีแพะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน : โอกาสในการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยในระยะยาว (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2586)

คะแนนเฉลี่ย

มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังจีนในปี 2557 ที่หดตัวลงถึงร้อยละ 7.9 สะท้อนถึงผลกระทบจากภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในปีดังกล่าวที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 7.4 ที่มีต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2558 คงขยายตัวชะลอลงที่ราวร้อยละ 7.2 อย่างไรก็ดี ด้วยปัจจัยความเสี่ยงเฉพาะหน้าที่เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้เราเพิ่มมุมมองที่ระมัดระวัง และมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ โดยมีประเด็น ดังนี้

- ความเสี่ยงจากภาคการเงิน ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอ นำไปสู่ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจที่เสื่อมถอยลง ซึ่งคงนำไปสู่ประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจ และอาจสร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของระบบการเงินในภาพรวม

- ความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมค่อนข้างมาก เนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 13.0 ของจีดีพี อีกทั้งราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง ยังมีผลทางจิตวิทยาผ่านความมั่งคั่งของครัวเรือนที่ลดลง (Wealth effect)

- ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแกนหลัก อย่างยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ยังคงเปราะบางส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนจะขยายตัวในช่วงร้อยละ (-0.5)-4.5 โดยสินค้าส่งออกหลักดั้งเดิม กล่าวคือ ยางพาราและสินค้าขั้นกลาง ยังคงอยู่ภายใต้ปัจจัยกดดัน ขณะที่ มันสำปะหลังและผลไม้ยังคงเป็นสินค้าดาวเด่น อย่างไรก็ตาม โอกาสในระยะยาวของผู้ประกอบการไทยคงอยู่ที่การเพิ่มสัดส่วนการส่งออกในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคให้มากขึ้น การใช้ช่องทางการขายสินค้าใหม่ๆ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตลาดจีน อันได้แก่ ช่องทางการค้าปลีกออนไลน์ และรวมถึงการแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ทางเมืองตอนในและภาคตะวันตกของจีน ซึ่งระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นเมืองคงสูงขึ้นเป็นลำดับต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ