Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 มิถุนายน 2558

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดิ่งกระทบมาเลเซียระยะสั้น: คาดเศรษฐกิจประธานอาเซียนขยายตัวปี ’58 ร้อยละ 4.8 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2634)

คะแนนเฉลี่ย

จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงานได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคต่างประเทศของมาเลเซียในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกพลังงานสุทธิ ประกอบกับมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รวมต่อการส่งออกทั้งหมดค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี ผลกระทบของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงต่อ GDP ในช่วงที่ผ่านมามีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากโมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งมาเลเซียในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากแรงขับเคลื่อนในประเทศเป็นหลัก

ทว่า แม้ผลกระทบของแนวโน้มขาลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะยังไม่แสดงเด่นชัดในภาคเศรษฐกิจจริง หากแต่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของมาเลเซียเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่องและตลาดการเงินมีความอ่อนไหวมากขึ้นต่อเงินทุนไหลออก สังเกตได้จากฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีมากขึ้นในปี 2558 นี้

จากสถานการณ์ที่น่าเป็นกังวลข้างต้น ประเทศมาเลเซีย ประธานอาเซียนปี 2558 มีแนวโน้มถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศอย่าง ฟิทช์ เรตติ้งส์ จากระดับ A- เหลือ BBB+ ในรอบการประเมินปลายเดือน ก.ค. 2558 นี้ ภายหลังจากที่ได้ปรับลดมุมมองความนาเชื่อถือจากระดับที่มีเสถียรภาพเป็นเชิงลบเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (ก.ค. 2556)

อนึ่ง นอกเหนือจากเศรษฐกิจภาคต่างประเทศของมาเลเซียที่ดูเปราะบางแล้ว แนวโน้มระยะยาวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำยังเพิ่มความกังวลต่อความยั่งยืนภาคการคลังของประเทศอีกทาง เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียพึ่งพารายได้จากการส่งออกพลังงานรวมถึงภาษีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ดี วัฏจักรของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาเลเซียน่าจะคลี่คลายลงในระยะข้างหน้า ประกอบกับความพยายามของรัฐบาลมาเลเซียในการปฏิรูปโครงสร้างทางการคลัง รวมถึงแนวคิดในการลดการพึ่งพาภาคพลังงานและหันไปพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอื่นๆให้มีผลิตภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรม E&E ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิรูปเศรษฐกิจข้างต้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจมาเลเซียในระยะยาว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ