Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 สิงหาคม 2558

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จีนลดค่าเงินหยวน หลังเศรษฐกิจยังอ่อนแอ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2648)

คะแนนเฉลี่ย

ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดค่าเงินหยวน โดยดำเนินการผ่านการปรับวิธีการกำหนดค่ากลางอ้างอิงเงินหยวน/ดอลลาร์ฯ (PBOC Midpoint หรือ Central parity rate) ให้การเสนอราคาของ market maker ในแต่ละวัน สอดคล้องกับระดับปิดตลาดของเงินหยวนในวันทำการก่อนหน้ามากขึ้น ทั้งนี้ ค่ากลางอ้างอิงเงินหยวนที่ PBOC ประกาศในช่วงเช้าวันที่ 11 ส.ค. 2558 อยู่ที่ 6.2298 หยวนต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงประมาณ 1.82% จากค่ากลางอ้างอิงที่ 6.1162 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ในวันทำการก่อนหน้า โดย PBOC ระบุว่า การดำเนินการครั้งนี้ถือเป็น "One-time Correction" เพื่อให้การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงหลังจากนี้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงรอดูว่า ความเคลื่อนไหวของเงินหยวนในช่วงหลังจากนี้ จะเกาะกลุ่มไปกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคได้มากน้อยเพียงไร ขณะที่ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลของจีน ก็น่าจะยังคงเป็นปัจจัยที่ชะลอกรอบการอ่อนค่าของเงินหยวนไว้ ตราบใดที่ทางการจีนยังไม่เปิดให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินหยวนที่ถูกปรับให้อ่อนค่าลงนั้น น่าจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะมีผลกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวและการส่งออกระหว่างไทย-จีน เนื่องจากเงินหยวนและเงินบาทต่างก็อ่อนค่าไปพร้อมกัน นอกจากนี้ การหดตัวของการส่งออกสินค้าไทยไปจีน น่าจะมีสาเหตุสำคัญมาจากเรื่องราคาสินค้าส่งออกในหลายๆ หมวดที่ไทยส่งออกไปจีนได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมถึงสต็อกสินค้าของจีนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจีนยังคงชะลอการนำเข้าจากไทย

มองไปในระยะข้างหน้า คาดว่า PBOC น่าจะทยอยปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเป็นลำดับท่ามกลางโมเมนตัมเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ โดยคงจะต้องเข้าดูแลการเคลื่อนไหวของเงินหยวนเป็นระยะเพื่อสกัดการเก็งกำไรและลดโอกาสความเสี่ยงของภาวะเงินทุนไหลออก ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า ความผันผวนของสกุลเงินเอเชียอาจเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพราะนอกจากจะมีตัวแปรเรื่องดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และทิศทางเงินหยวนของจีนแล้ว ยังมีเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดยเฉพาะมาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ที่ยังฟื้นตัวล่าช้า และมีฐานะดุลต่างประเทศและระดับทุนสำรองฯ ที่อ่อนแอ ซึ่งทำให้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ