Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 มิถุนายน 2559

เศรษฐกิจต่างประเทศ

สหราชอาณาจักรตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ... ผลกระทบต่อไทย กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2754)

คะแนนเฉลี่ย

ในที่สุดสหราชอาณาจักรตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ BREXIT โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หลังจากนี้รัฐบาลอังกฤษน่าจะต้องเร่งประกาศแผนที่จะนำพาเศรษฐกิจของประเทศในช่วงข้างหน้า โดยเฉพาะในเรื่องการค้าและการลงทุนกับประเทศต่างๆ ภายหลังการประกาศลาออกของนายกรัฐมนตรีนายเดวิด แคเมรอน กำหนดการเลือกตั้งและหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาสานต่อเงื่อนไขข้อตกลงกับ EU ในช่วง 2 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย ซึ่งหากแผนดังกล่าวถูกประเมินว่ามีความน่าเชื่อถือ ก็อาจจะพอคลายความกังวลของนักลงทุนลงไปได้บ้าง ในทางตรงกันข้าม หากแผนยังไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในด้านเนื้อหา หรือในด้านกรอบเวลา ความเชื่อมั่นต่างๆ ก็คงจะไม่กลับคืนมาโดยเร็ว และยังอาจลุกลามไปกระทบต่อค่าเงินยูโรและเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปอีกด้วย

สำหรับผลกระทบด้านการค้าต่อไทยนั้น จะกระทบผ่านความผันผวนของค่าเงินและการส่งออกเป็นหลัก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยไป EU (รวม UK) ปี 2559 อาจจะหดตัวร้อยละ 4.4 ถึงหดตัวร้อยละ 1.2 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 21,300-21,700 ล้านดอลลาร์ฯ และหลังจากนี้ ภาคธุรกิจไทยคงจะต้องติดตามความคืบหน้าของการเจรจาในเรื่องกรอบการค้าและการลงทุนของ UK อย่างใกล้ชิด ซึ่งน่าจะใช้เวลานานพอสมควร ทำให้เป็นไปได้ว่า เงินปอนด์และเงินยูโรคงจะผันผวนเป็นช่วงๆ ตามข่าวความคืบหน้า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จึงควรที่จะต้องปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนธุรกิจที่มีตลาดส่งออกหลักใน UK และ EU ควรจะต้องพยายามขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ เพื่อที่จะกระจายความเสี่ยง แม้คาดว่าบทสรุปสุดท้ายของความสัมพันธ์ระหว่าง UK และ EU น่าจะเป็นไปในรูปแบบที่ยังมีจุดเชื่อมต่อที่ทำให้ได้รับสิทธิบางประการและเอื้อประโยชน์ต่อกันอยู่ นั่นก็น่าจะส่งผลบวกต่อธุรกิจไทยให้ไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงนัก

ส่วนผลกระทบตลาดการเงินไทยนั้น คงจะหนีไม่พ้นความผันผวนในช่วงแรก แต่ผลกระทบน่าจะทยอยลดทอนลงในระยะต่อไป เนื่องด้วยความเกี่ยวข้องโดยตรงของตลาดเงิน-ตลาดทุนไทย กับตลาดในแถบยุโรปมีไม่มาก อีกทั้งไทยยังมีทุนสำรองฯ (รวม Net forward position) ที่ระดับสูงเพียงพอที่จะรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินในระหว่างนี้ได้ ทั้งนี้ คาดว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงไปที่ระดับ 36.00-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ ในมิติผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทย ก็คาดว่าจะอยู่ในกรอบที่จำกัดเช่นกัน เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินใน UK และ EU ไม่มากนัก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ