Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 กันยายน 2559

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การยกระดับความร่วมมือความตกลง GMS CBTA ... สู่โอกาสการค้าของไทยไปเวียดนามผ่านเส้นทาง R1 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2772)

คะแนนเฉลี่ย

หลังจากประเทศสมาชิกในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยไทย จีน เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาวและเมียนมา ได้ให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Agreement: GMS CBTA) ครบทุกฉบับในปลายปี 2558 ก็ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Greater Mekong Subregion Cross Border Transport Facilitation Agreement Joint Committee Retreat) อีกครั้งวันที่ 14 ก.ค. 2559 โดยสาระสำคัญในการประชุมคือ การร่วมกันปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถระหว่างประเทศ และการเพิ่มโควต้าใบอนุญาตรถขนส่งสินค้าและรถโดยสารไม่ประจำทางระหว่างประเทศชั่วคราวในเส้นทางผ่านด่านต่างๆ เป็น 500 คัน ซึ่งเส้นทางที่จะได้รับอานิสงส์มากที่สุดคงเป็นเส้นทาง R1 (กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-พนมเปญ-บาเวท-นครโฮจิมินห์) เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวยังมีความร่วมมือและจำนวนโควต้ารถขนส่งที่ได้รับอนุญาตโดยไทยและกัมพูชาน้อยที่สุดเพียง 40 คัน

ทั้งนี้ หลังการเพิ่มโควต้ารถขนส่งระหว่างประเทศและการปรับปรุงพิธีการทางศุลกากร ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากไทยไปเวียดนามบนเส้นทาง R1 จะลดลงราว 8-10 ชั่วโมง ทำให้จากเดิมที่ใช้เวลาประมาณ 31-41 ชั่วโมง ก็จะเหลือเพียง 23-31ชั่วโมง ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการขนส่งก็จะถูกลงเกือบร้อยละ 30-35 จากต้นทุนเดิมทั้งหมดอีกด้วย นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าผ่านชายแดนของไทยไปยังเวียดนามในเส้นทาง R1 โดยสินค้าที่มีศักยภาพได้แก่ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เครื่องปรับอากาศ รวมไปถึงเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนยานยนต์และผลไม้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่ามูลค่าการส่งออกจากไทยผ่านด่านอรัญประเทศในเส้นทาง R1 คงเติบโตร้อยละ 19.4 (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านบาทในปี 2560

อย่างไรก็ดี การขนส่งผ่านเส้นทาง R1 ไปยังเวียดนามในปัจจุบันยังคงมีอุปสรรคในบางส่วนที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง ดังนั้น การจัดการต้นทุนในการขนส่งทั้งขาไปและขากลับที่ดี จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพสูงที่สุด ในขณะเดียวกัน ทางการไทยเองก็ควรเร่งเจรจาลงนามกับกัมพูชาและเวียดนามในการเดินรถระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการค้าผ่านแดนในเส้นทาง R1 อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในลำดับต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ