Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 พฤศจิกายน 2559

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จุดเปลี่ยนนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ: เงื่อนไขต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2794)

คะแนนเฉลี่ย

​การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อจีน อันจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในมิติเชิงเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยแนวนโยบายด้านการต่างประเทศของทรัมป์เป็นไปในทางกีดกันการค้าผ่า​นการขึ้นกำแพงภาษี โดยใช้ข้ออ้างอันเกี่ยวกับ "การกดค่าเงินสกุลท้องถิ่นให้อ่อนเพื่อประโยชน์ทางการส่งออก" หรือ Currency manipulation

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีการพึ่งพากันอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตั้งข้อสังเกตถึงเงื่อนไขความเป็นไปได้ของการดำเนินนโยบายและผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

  • ​​การขึ้นกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนเป็นการเฉพาะ หากเกิดขึ้นจริง ย่อมส่งผลต่อโมเมนตัมการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยประเมินว่าจะผลกระทบต่อการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ราวร้อยละ 45-50 ในกรณีเลวร้ายที่สุด อย่างไรก็ดี การดำเนินมาตรการกีดกันโดยใช้กำแพงภาษีแบบสุดโต่งนี้ จะไม่เป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ เองด้วย เนื่องจากสินค้านำเข้าจากจีนหลากหลายประเภทเป็นสินค้าที่ไม่มีฐานการผลิตอยู่ในสหรัฐฯ แล้ว และการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน น่าจะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนสหรัฐฯ สูงขึ้น
  • การเรียกร้องให้บรรษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ โยกฐานการผลิตออกจากจีน เป็นข้อเรียกร้องที่น่าจะได้รับการตอบสนองน้อยมาก เนื่องจากการเข้าไปในจีนของบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ เป็นการเข้าไปเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากตลาดผู้บริโภคในจีนเป็นหลัก อีกทั้งจีนยังถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่สำคัญที่สุดของโลก ทำให้ความเป็นไปได้ในการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนลดต่ำลงอีก เนื่องจากบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ไม่มีทางเลือกอื่นๆ ในการตั้งฐานการผลิตขนาดใหญ่ทดแทนจีน

การใช้นโยบายแบบสุดโต่งต่อจีนของสหรัฐฯ รวมไปถึงการคาดหวังถึงการตอบโต้อย่างรุนแรงจากฝั่งของจีนเอง ล้วนแล้วแต่เป็นผลลัพธ์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ดังนั้น จึงคาดว่าจะเกิดกระบวนการต่อรองเชิงนโยบายแบบทวิภาคีเพื่อผสานประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยผลลัพธ์ของการต่อรองที่อาจเกิดขึ้นนั้น มีความเป็นไปได้อย่างมีนัยสำคัญที่สหรัฐฯ จะเรียกร้องให้จีนเปิดตลาดภายในประเทศให้แก่สหรัฐฯ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน ภาคการบริการ รวมถึงตลาดการเงินและการบริการทางการเงิน ขณะที่ ข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ในประเด็นที่ทางการจีนกดค่าเงินหยวนให้อ่อนเพื่อกระตุ้นการส่งออกนั้น ก็น่าจะส่งผลให้ค่าเงินหยวนจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นนับจากนี้ ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนเองที่เปราะบาง ทำให้จีนอาจไม่มีอำนาจในการต่อรองกับสหรัฐฯ มากนักในระยะนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ