Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 ธันวาคม 2559

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ประชุมเฟดรอบสุดท้าย 13-14 ธ.ค. 59 ... คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย หลังพัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3649)

คะแนนเฉลี่ย

ตลอดในปี 2559 ที่ผ่านมา เฟดได้มีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25-0.50% ติดต่อกันถึง 7 รอบการประชุม รวมทั้งได้มีการทยอยปรับลดมุมมองคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในแผนภาพ Dot Plot หลายครั้ง ท่ามกลางสภาวะที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความเสี่ยงในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ประเด็นเรื่อง BREXIT ของอังกฤษ รวมทั้งความกังวลต่อสถานะของธนาคารในยุโรป อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า พัฒนาการเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ยังคงรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวไว้ได้ในระดับค่อนข้างดี โดยเฉพาะพัฒนาการของตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวใกล้เคียงระดับปกติ ซึ่งคงเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้เฟดทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป (เพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดดันให้ต้องเร่งจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตที่อาจสร้างผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามมาได้)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 0.25-0.50% สู่ระดับ 0.50-0.75% ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี 2559 และสำหรับแนวโน้มในปี 2560 นั้น มองว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1-2 ครั้ง ตามแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีโอกาสปรับสูงขึ้น และและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็น่าจะได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มเติมอีกหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ เข้ามาเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามที่หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจยังมีความไม่แน่นอน เพราะในอีกด้านหนึ่งนั้น หากความเสี่ยงเศรษฐกิจต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เฟดก็อาจจะเผชิญกับภาวะที่ไม่สามารถส่งสัญญาณการคุมเข้มดอกเบี้ยได้อย่างชัดเจนมากนัก

สำหรับผลต่อไทย แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด มีแนวโน้มที่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในปี 2560 และสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้มีโอกาสเห็นกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ (รวมทั้งไทย) อย่างไรก็ดี จากการที่ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงรออยู่หลายประการในช่วงปีข้างหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เฟดจะยังคงรักษาจังหวะการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยความระมัดระวัง ดังนั้น ด้วยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเครื่องชี้เสถียรภาพต่างประเทศ (External Stability) ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งระดับสภาพคล่องในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง คงช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาทตามรอบการเก็งจังหวะเฟดขึ้นดอกเบี้ยลงไปได้บางส่วน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ