Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มกราคม 2560

เศรษฐกิจต่างประเทศ

Hard BREXIT: ส่งออกไทยไป EU ปี’ 60 โต 1.0% (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2814)

คะแนนเฉลี่ย

​แม้ตลาดจะไม่ตอบรับในเชิงลบมากนักต่อสัญญาณ Hard BREXIT ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ แต่ประเด็น BREXIT ความเปราะบางของภาคธนาคารในยุโรป และตารางเวลาการเลือกตั้งของหลายๆ ประเทศในยุโรป ล้วนเป็นโจทย์ที่รอท้าทายเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปในปีนี้ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจ EU ในปี 2560 จะยังคงเติบโตเชื่องช้า เนื่องจากการเริ่มกระบวนการ Hard BREXIT ซึ่งเป็นรูปแบบการถอนตัวที่กดดันให้ธุรกิจในอังกฤษต้องปรับตัวค่อนข้างมาก ซึ่งอาจเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองใน EU และนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ EU ในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจ EU ปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 1.6 (กรอบประมาณการร้อยละ 1.4 - 1.8) ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า Hard BREXIT และผลการเลือกตั้งไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจมากนัก ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้การส่งออกของไทยไป EU ในปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.0 มีมูลค่าการส่งออก 22,220 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการร้อยละ 0-2.0 มีมูลค่าการส่งออก 22,000 - 22,440 ล้านดอลลาร์ฯ) โดยสินค้าที่น่าจะยังมีโอกาสทำตลาดได้เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High-end) อาทิ ยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา สินค้าเทคโนโลยี เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อชีวิตทันสมัย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารกระป๋อง อาหารสุขภาพ อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารผู้สูงอายุ เป็นต้น

นอกจากนี้ ธุรกิจไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหภาพยุโรปที่ยังเต็มไปด้วยความท้าทายตลอดทั้งในปี 2560 และมีผลต่อเนื่องในระยะข้างหน้าจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจใน EU ที่จะปรากฏชัดขึ้นเมื่ออังกฤษเข้าสู่กระบวนการ Hard BREXIT อย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งธุรกิจไทยต้องปรับตัวหลายด้าน อาทิ ธุรกิจไทยควรเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจของ EU ให้สอดคล้องกับบทบาทที่ลดลงของ FTA แบบพหุภาคีซึ่งยากจะเกิดในระยะอันใกล้ ควรมีการเตรียมพร้อมกับการเพิ่มความเข้มข้นด้านคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าที่จะถูกนำมาใช้มากขึ้น อีกทั้งธุรกิจไทยอาจต้องปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับการผลิตรูปแบบใหม่ของ EU ที่ก้าวเข้าสู่ยุค Industry 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงโดยนำระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทแทนแรงงานมนุษย์

อย่างไรก็ดี แม้จะมีความน่ากังวลทางเศรษฐกิจของ EU และอาจมีมาตรการกีดกันทางการค้าใดเกิดขึ้นมา EU ก็จะยังคงบทบาทเป็นตลาดที่ขับเคลื่อนการส่งออกของไทยด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 10 โดยมีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี อีกทั้ง EU ยังเป็นตลาดสำคัญที่ผลักดันการส่งออกสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงของไทยให้เติบโต แต่ธุรกิจไทยก็ต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าและยกระดับการผลิตเพื่อตอบโจทย์การบริโภคและสร้างความแข็งแกร่งให้สามารถทำตลาดนี้ได้อย่างยั่งยืนแม้ไม่มีแต้มต่อทางการค้าหรือ FTA ใดๆ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ